ทางออกของร้านค้าแบบดั้งเดิม

ทางออกของร้านค้าแบบดั้งเดิม

การพัฒนาธุรกิจ

GlobalLinker Staff

GlobalLinker Staff

263 week ago — ใช้เวลาอ่าน 5 นาที

ร้านค้าปลีกแบบดั้งเดิมหรือชื่อเรียกที่เราคุ้นเคยว่า ร้านโชห่วย เป็นร้านค้าที่ขายของชำ ขายปลีกสินค้าอุปโภคบริโภค ขายปลีกชนิดที่ว่าร้านสะดวกซื้อในปัจจุบันยังไม่กล้าขายเลียนแบบ ตัวอย่างที่เห็นง่าย ๆ อย่างการแบ่งขายบุหรี่เป็นมวน น้ำยาซักผ้า/น้ำยาปรับผ้านุ่ม/แชมพู/ครีมนวดผมแบบซอง ข้าวสารแบ่งขาย ขายไข่เป็นฟอง กาแฟแบบซอง ยาจุดกันยุงแบบขด ฯลฯ

 

ที่สำคัญคือสามารถเซ็นหรือเชื่อไว้ก่อนแล้วค่อยจ่ายภายหลังได้ หรือลักษณะเฉพาะตัวอีกหลากหลายแบบที่แต่ละชุมชนก็อาจจะแตกต่างกันออกไป และสิ่งที่ร้านค้าปลีกขนาดใหญ่หรือร้านสะดวกซื้อไม่สามารถเลียนแบบได้เลยก็คือความคุ้นเคยหรือความสัมพันธ์แบบ ‘เพื่อนบ้าน’ นี่เอง

 

แม้ว่าความผูกพันระหว่างร้านค้าปลีกแบบดั้งเดิมกับลูกค้าที่อยู่ในชุมชนจะมีมายาวนานแค่ไหนก็ตาม แต่ดูเหมือนว่าในปัจจุบันร้านดั้งเดิมกำลังถูกเบียดโดยร้านสะดวกซื้อแบบแฟรนไชส์ที่โดดเด่นในเรื่องของจำนวนสินค้าที่มีให้เลือกมากกว่า ราคาสินค้าที่ขายได้ถูกกว่า รวมถึงการบริหารจัดการที่เป็นมาตรฐานกว่า ซึ่งร้านสะดวกซื้อเหล่านี้กำลังขยายตัวไปอยู่ในทุกชุมชนแล้ว

 

ในขณะที่ร้านค้าปลีกแบบดั้งเดิมมีจุดแข็งคือ ทำเลที่ตั้งมักอยู่กลางชุมชนจริง ๆ กระจายหลายจุด เดินทางสะดวก เข้าถึงลูกค้าง่าย มีความสัมพันธ์แบบเพื่อนบ้าน ใกล้ชิดคุ้นเคย การแบ่งขายสินค้าในจำนวนน้อย ๆ ได้ มีสินค้าที่เป็นขนาดเล็กวางขาย ไม่ว่าจะเป็นน้ำยาล้างจาน สบู่ แชมพู ครีมนวดผม ฯลฯ ระบบเอาสินค้าไปก่อนจ่ายทีหลัง อาศัยความเชื่อใจ สินค้าบางชนิดที่ยังขายได้ดี เช่น น้ำอัดลมพร้อมน้ำแข็งใส่ถุงหูหิ้ว เครื่องดื่มบำรุงกำลัง ฯลฯ

 

มีสินค้าที่ตอบสนองความต้องการใช้เร่งด่วน เช่น เครื่องปรุงอาหารในครัว เครื่องใช้ส่วนตัว รวมเอาตลาดสดและของชำ เช่น กะปิ น้ำปลา หอม กระเทียม ฯลฯ ไว้ในที่เดียวกัน มีการลดราคาหรือโปรโมชั่นต่าง ๆ สามารถทำได้หลากหลายรูปแบบและทำได้อย่างอิสระ

 

แต่อย่างไรก็ตาม วิถีชีวิตของผู้คนในปัจจุบันที่เปลี่ยนไป ครอบครัวมีขนาดเล็กลง คนนิยมอาศัยอยู่ในคอนโดฯ มากกว่าบ้าน คนต่างจังหวัดเข้ามาทำงานในกรุงเทพฯ กันเป็นจำนวนมาก มีการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารมากขึ้นผ่านอินเทอร์เน็ตบนสมาร์ทโฟนได้ง่าย จึงทำให้พฤติกรรมของผู้บริโภคเปลี่ยนไปด้วยเช่นกันคือไม่นิยมซื้อของใช้ตามห้างสรรพสินค้าครั้งละมาก ๆ เหมือนแต่ก่อน แต่จะนิยมหันไปซื้อสินค้าจากร้านค้าปลีกขนาดใหญ่หรือร้านสะดวกซื้อมากกว่า

 

ปริมาณการซื้อของใช้ภายในบ้านจากร้านโชห่วยมีจำนวนน้อยลง ทั้งนี้อาจเพราะร้านสะดวกซื้อหรือร้านค้าปลีกที่มีขนาดใหญ่นั้นมีสินค้าให้เลือกได้หลากหลายกว่า สามารถขายในราคาที่ต่ำกว่าได้เพราะมีพื้นที่ของร้านขนาดใหญ่กว่าและมีจำนวนสาขาที่มากกว่าจึงทำให้มีการสั่งซื้อจำนวนครั้งละมาก ๆ จึงทำให้มีต้นทุนที่น้อยกว่ามาก อีกทั้งยังมีระบบการบริหารร้านที่เป็นระบบได้มาตรฐานมากกว่าอีกด้วย

 

ร้านค้าแบบดั้งเดิมจะมีทางออกอย่างไรได้บ้าง

ร้านโชห่วยสามารถนำจุดเด่นที่มาพัฒนาต่อยอดออกไปให้ตอบสนองได้มากกว่าเดิม ดังนี้

 

  • เจ้าของกิจการเปลี่ยนทัศนคติ เจ้าของกิจการต้องเข้าใจในสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป หลายร้านสืบทอดกันมาหลายชั่วอายุ ยังคงมีการจัดการแบบที่เคยทำมา จึงจำเป็นต้องมีการปรับเปลี่ยนกันตั้งแต่ทัศนคติ จากที่เคยตั้งวางสินค้าอย่างไม่มีระบบระเบียบก็ควรที่จะจัดเรียงให้เป็นหมวดหมู่ ติดป้ายชื่อสินค้าและราคา มีการทำบัญชี มีการทำสต็อกสินค้าอย่างเป็นระบบ มีการเก็บข้อมูลสินค้าที่เป็นที่ต้องการในชุมชน ฯลฯ

  • ตกแต่งพื้นที่สวยงามและทันสมัย ซึ่งจากเดิมที่เคยวางไม่เป็นระเบียบ เจ้าของร้านเท่านั้นที่รู้ว่าสินค้าอยู่ส่วนใดของร้าน จำเป็นต้องมีการจัดการเสียใหม่ ควรจัดตกแต่งให้ดูสะอาด มีระเบียบ เป็นหมวดหมู่ มองหาหรือหยิบสินค้าได้ง่าย

  • บริการที่ประทับใจยิ่งกว่าเดิม นี่คือมัดเด็ดของโชห่วยแบบดั้งเดิม ความคุ้นเคยแบบเพื่อนบ้านคือสิ่งที่ร้านค้าปลีกขนาดใหญ่ไม่มี การบริการที่ดีสามารถมัดใจลูกค้าไว้ได้เป็นอย่างดี ความไว้วางใจคือวิธีการสร้างลูกค้าประจำ

  • ราคาแบบมิตรภาพ แม้ว่าต้นทุนสินค้าของโชห่วยจะสูงกว่าร้านสะดวกซื้อหรือร้านที่เป็นแบบแฟรนไชส์ก็ตาม แต่หากมองในเรื่องของต้นทุนด้านอื่น ๆ อาทิ การโฆษณาประชาสัมพันธ์ การขนส่ง ถือว่าน้อยกว่ากันมาก นอกจากนี้ในปัจจุบันยังมีช่องทางในการซื้อสินค้าที่มีต้นทุนต่ำได้ไม่ยาก ดังนั้นโอกาสในการแข่งขันด้านราคาจึงยังสามารถสู้ได้อย่างไม่ลำบากนัก

  • บริหารจัดการอย่างเป็นระบบ เป็นเรื่องที่สำคัญอย่างมาก ถือว่าเป็นการแก้ไขจุดอ่อนของร้านโชห่วยแบบเดิม ควรต้องมีการจัดการในเรื่องของระบบบัญชี รายรับรายจ่าย การจัดการเช็กสต็อกสินค้าคงคลังอย่างเป็นระบบ เช่น มีระบบพีโอเอสผ่านเครื่องคอมพิวเตอร์ ทำให้ได้ข้อมูลที่ทันสมัยให้ทันสมัยและตอบสนองลูกค้าได้ตลอดเวลา

  • เข้าใจในความต้องการของผู้บริโภค คือการเสนอสินค้าให้ตรงตามความต้องการของลูกค้าให้มากที่สุด หรือจัดหาสินค้าแปลก ๆ ใหม่ ๆ เพื่อดึงดูดลูกค้าจัดหาสินค้าที่หลากหลายและหาสินค้าเข้าร้านอย่างต่อเนื่อง อย่าลืมเก็บข้อมูลและสังเกตพฤติกรรมของลูกค้าแต่ละกลุ่ม วิเคราะห์และนำไปปรับปรุงร้านให้ดีขึ้น

  • จัดโปรโมชั่นเพื่อดึงดูดใจลูกค้า อาจเป็นการสมนาคุณสินค้าที่ต้นทุนไม่สูงหรือสินค้าที่ขายออกยากไป เป็นการสร้างความประทับใจให้กับลูกค้าอีกทางหนึ่งด้วย

  • เรียนรู้กลยุทธ์แบบร้านค้าปลีกสมัยใหม่ แม้ไม่สามารถเปิดให้บริการได้ 24 ชม.เหมือนร้านสะดวกซื้อแต่ก็สามารถที่จะจัดส่งสินค้าให้ได้รวดเร็วกว่าโดยเฉพาะสินค้าที่ลูกค้าต้องการแบบเร่งด่วน เพิ่มช่องทางการขายหรือบริการออกไปยังพื้นที่อื่น ๆ เพื่อสร้างความแตกต่าง เช่น เปิดเพจร้านค้าให้สามารถสั่งซื้อออนไลน์ได้ รู้จักใช้ประโยชน์จากสื่อโซเชียลมีเดีย และนำเทคโนโลยีมาใช้แบ่งเบาการทำงาน

 

ทางออกของร้านค้าแบบดั้งเดิม

Comments