เงินดาวน์บ้านขอคืนได้หรือไม่?

เงินดาวน์บ้านขอคืนได้หรือไม่?

กฎหมายและการกำกับควบคุม

Tanabordee Rakklang

Tanabordee Rakklang

219 week ago — ใช้เวลาอ่าน 3 นาที

เงินดาวน์บ้านขอคืนได้หรือไม่?

การวางเงินดาวน์ซื้อบ้านในโครงการหมู่บ้านจัดสรรทั่วไปนั้นเมื่อลูกค้าไม่ต้องการซื้อบ้านแล้วสามารถที่จะขอเงินดาวน์ที่ผ่อนชำระไปแล้วคืนได้หรือไม่อย่างไร อันนี้พอมีคำตอบให้ครับ

มีแนวคำวินิจฉัยของศาลฎีกาที่ 9514/2544 วินิจฉัยว่า "แม้โจทก์จะได้วางเงินจำนวน 55,000 บาทในวันทำสัญญาจะซื้อจะขายอาคารพร้อมที่ดินก็ตามแต่เงินจำนวนดังกล่าวนี้ก็มิได้หมายความว่าจะเป็นเงินมัดจำไปเสียทั้งหมดต้องขึ้นอยู่กับเจตนาของคู่กรณีเป็นสำคัญ เมื่อเจตนาของโจทก์และจำเลย
ปรากฎชัดแจ้งอยู่ในสัญญาแล้วว่าให้ถือเป็นเงินดาวน์จึงต้องถือว่าเงินจำนวนดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของราคาที่ดินพร้อมทาวน์เฮ้าส์ส่วนเงินดาวน์ที่โจทก์ผ่อนชำระไปแล้วอีก 10 งวดจำนวน 87,000 บาทนั้นยิ่งเห็นได้ชัดว่าไม่ใช่เงินมัดจำเพราะเป็นเงินที่ผ่อนชำระ หลังจากทำสัญญาจะซื้อจะขายอาคารพร้อมที่ดินแล้วดังนั้น เมื่อโจทก์ผิดสัญญาจำเลยจะริบเงินเหล่านี้โดยอ้างว่าเป็นเงินมัดจำที่อาจริบตามกฎหมายไม่ได้สัญญา
ข้อ 9 ระบุว่าหากโจทก์ซึ่งเป็นผู้จะซื้อผิดนัดไม่ชำระเงินตามที่ระบุในสัญญาให้ถือว่าโจทก์ผิดสัญญาและยินยอมให้จำเลยริบเงินตามที่ระบุในสัญญาแล้วทั้งหมดกับให้ถือว่าสัญญานี้เป็นอันยกเลิกกันทันทีโดยมิต้องบอกกล่าวเลิกกัน เงินที่โจทก์ส่งมอบแก่จำเลยดังกล่าวเพื่อชำระหนี้บางส่วนย่อมกลับเป็นเงินอันจะต้องใช้คืน    เพื่อให้

คู่สัญญากลับคืนสู่ฐานะดังเป็นอยู่เดิมตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา  391  แม้เมื่อโจทก์จำเลยตกลงกันให้ริบโดยไม่ต้องใช้คืนเพื่อให้กลับคืนสู่ฐานะเดิมข้อตกลงให้ริบดังกล่าวจึงมีลักษณะเป็นเบี้ยปรับที่กำหนดเป็นจำนวนเงินตามมาตรา 379   และเบี้ยปรับนี้ถ้าสูงเกินส่วนศาลมีอำนาจที่จะลดลงให้เหลือเป็นจำนวนที่พอสมควรได้ส่วนที่ตกลงกันไว้ท้ายของสัญญาข้อ 9 อีกว่า หากโจทก์ผู้จะซื้อผิดนัดไม่ชำระเงินตามสัญญาอีกยอมชำระค่าปรับให้แก่จำเลยผู้จะขายต่างหากเป็นเงินครั้งละ 10,000 บาท ก็เป็นเบี้ยปรับเช่นกัน  แต่กำหนดไว้ในสัญญาให้เรียกได้อีกนั้นเป็นการซ้ำซ้อน จึงไม่กำหนดเบี้ยปรับให้แก่จำเลยอีก

โดยสรุปแล้วเงินดาวน์ถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของเงินที่ได้ชำระราคาค่าซื้อที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสรา้งหากลูกค้าผิดสัญญาไม่ยอมรับโอนกรรมสิทธิ์หรือเหตุอื่นใดในสัญญาก็ตามก็ให้ริบเงินที่ได้ชำระมาแล้วได้แต่ศาลถือว่าเป็นเบี้ยปรับ  ซึ่งหากทางผู้ประกอบการไม่ได้รับความเสียหาย  เช่น  สามารถที่จะขายที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสรา้งให้กับลูกค้ารายอื่นๆ ต่อไปได้    หรือปรากฎว่าลูกค้าได้ชำระเงินดาวน์มาแล้วเป็นจำนวนมาก  ศาลก็มีอำนาจปรับลดลงมาและให้ทางผู้ประกอบการคืนเงินบางส่วนให้กับลูกค้าได้เช่นเดียวกัน  ขึ้นอยู่กับการพิสูจน์ความเสียหายที่ได้รับจากการผิดสัญญาของลูกค้าซึ่งผู้ประกอบการจะต้องแสดงรายละเอียดใ้ห้ศาลเห็นในชั้นสืบพยานครับ

 

               T.rakklang

              4 ม.ค.2563

Comments

โพสต์โดย

Tanabordee Tanabordee Rakklang

บริการให้คำปรึกษากฎหมาย และเป็นทนายความแก้ต่างหรือว่าต่างในคดีแพ่งหรือคดีอาญาต่อศาลทั่วราชอาณาจักรไทย บริการด้านกฎหมายอื่นๆ โทร 0817217900 (ช่วงเวลา 08.30 -17.00 น.) 0614796354...