เมื่อเทคโนโลยีเปลี่ยนไวกว่าระบบการศึกษา – มหาวิทยาลัยสาขา STEM ควรปรับตัวอย่างไรในยุคดิจิทัล?

เมื่อเทคโนโลยีเปลี่ยนไวกว่าระบบการศึกษา – มหาวิทยาลัยสาขา STEM ควรปรับตัวอย่างไรในยุคดิจิทัล?

Entrepreneurship

Digital Ventures Technology

Digital Ventures Technology

307 week ago — 6 min read

ปฏิเสธไม่ได้ว่าเราอยู่ในยุคที่การแข่งขันทางเศรษฐกิจที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของเทคโนโลยีและสร้างผลกระทบรุนแรงมากในหลายวงการ วงการหนึ่งที่เห็นได้ชัดถึงผลกระทบก็คือการศึกษา โดยเฉพาะมหาวิทยาลัยต่างๆ อย่างที่คุณอรพงศ์ CEO จาก Digital Ventures ได้เคยยกตัวอย่างไว้ในงานเปิดตัวโครงการ U.REKA อย่างเห็นภาพว่า

 

“การศึกษานั้นได้รับผลกระทบสูงมาก แต่คนไม่ค่อยรู้สึก ตัวอย่างเช่น นักศึกษาระดับปริญญาตรีในมหาวิทยาลัยที่ใช้ระยะเวลา 4 ปีในการเรียนเกี่ยวกับเทคโนโลยี แต่ภายใน 4 ปีของโลกเทคโนโลยีนั้นมีความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นมากมาย สิ่งที่เรียนมา อาจไม่ได้ใช้แล้ว”

 

ในขณะที่ทุกฝ่ายพยายามรักษาแก่นของการศึกษาในมหาวิทยาลัย แต่ก็ต้องไม่ลืมที่จะหาทางออกสำหรับปัญหาที่ท้าทายอย่างการผลิตบัณฑิตให้ตอบโจทย์ตลาดยุคดิจิทัลและเข้ามาเสริม Innovation ecosystem ให้แข็งแรง วันนี้ Digital Ventures จะพาคุณไปเปิดโลกกับแนวทางของมหาวิทยาลัยจากประเทศต่างๆ ปรับตัวเพื่อที่จะให้ก้าวทันกับนวัตกรรมที่ขับเคลื่อนไปข้างหน้าอย่างรวดเร็ว จากความเห็นของ Farnam Jahanian President ของ Carnegie Mellon University ใน Weforum.org 

 

 

ให้ความสำคัญกับ “ความหลากหลาย” ที่คาดว่าเป็นปัจจัยในการพัฒนานวัตกรรมให้สำเร็จ

สถาบันการศึกษาแต่ก่อนจะเน้นทุ่มทรัพยากรไปยังสาขาวิชาที่ตอบโจทย์ความต้องการของตลาดใน “เวลานั้น” ซึ่งพอเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว บุคลากรสาขานั้นๆ ก็จะล้นตลาดในเวลาต่อมา ยกตัวอย่างสาขา STEM ย่อมากจากศาสตร์ 4 สาขานั่นก็คือ Science, Technology, Engineering และ Math ซึ่งมองว่าเป็นสาขาที่ตอบโจทย์การสร้างนวัตกรรม แต่ทราบหรือไม่ว่า จากผลสำรวจจากสำนักงานเศรษฐศาสตร์ในกระทรวงพาณิชย์ของสหรัฐฯ พบว่าความต้องการบุคลากรสาขา STEM ในตลาดเริ่มลดลงอย่างมาก จากเดิมที่ต้องการสูงถึง 24% ในช่วงปี 2005-2015 และคาดว่าจะลดลงอีกในช่วงปี 2014-2024 สาเหตุหนึ่งเป็นเพราะ แม้ว่าสาขา STEM จะเป็นแกนหลักสำหรับการพัฒนานวัตกรรมใหม่ๆ แต่ยังขาดการรู้จักนำเอามุมมองจากหลายๆ ด้านมาใส่ไว้ในนวัตกรรมเพื่อให้ระบบทำงานได้อย่างสมบูรณ์ ดังนั้น

 

ส่งเสริมความเป็นผู้ประกอบการ พัฒนาทั้งเศรษฐกิจและสังคมไปพร้อมกัน

ทุกวันนี้สังคมมีปัญหามากมายรอให้ไปช่วยกันแก้ไข โครงการโดยภาครัฐและองค์กรใหญ่อาจจะยังไม่สามารถเข้าถึงแก่นของปัญหาและดำเนินการได้อย่างครอบคลุมเท่าไรนัก คนรุ่นใหม่จึงมองหาหนทางเปลี่ยนแปลงสังคมด้วยวิธีการของตัวเอง เกิดเป็นการรวมตัวทั้งในรูปของ Startup, Social Enterprise และอื่นๆ เพื่อสร้างนวัตกรรมมาแก้ปัญหาต่างๆ มากมาย

 

สิ่งหนึ่งที่มหาวิทยาลัยสามารถส่งเสริมได้ก็คือ ความเป็นผู้ประกอบการ เพื่อให้เป็นแนวคิดติดตัวผู้เรียน โดยปัจจัยนี้จะเปลี่ยนบทบาทของบัณฑิตจาก ผู้ใช้แรงงานในระบบเศรษฐกิจเป็นผู้ประกอบการที่ช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ผ่านการริเริ่มดำเนินโครงการต่างๆ ที่มีประโยชน์และขับเคลื่อนทั้งภาคเศรษฐกิจและสังคมในอนาคต

 

ปัจจุบัน มหาวิทยาลัยและวิทยาลัยในสหรัฐฯ ได้บูรณาการวิชาส่งเสริมความเป็นผู้ประกอบการมากถึง 200 แห่ง ผลลัพธ์ที่ได้คือเกิดบริษัท Startup มากกว่า 100,000 แห่ง มีนวัตกรรมใหม่ๆ เพิ่มขึ้นถึง 70% ก่อให้เกิดผลลัพธ์ชัดเจน เช่น สามารถคิดค้นยาและวัคซีนมากกว่า 200 ชนิด

 

เสริมพลังโดยการเข้าร่วมมือกับภาคเอกชน ร่วมกันสร้างนวัตกรรมใหม่

 

ในยุคที่การแข่งขันรุนแรง มหาวิทยาลัยที่จับมือกับภาคเอกชนไม่ว่าจะเป็นองค์กรธุรกิจ หน่วยงานการกุศล หรือศูนย์วิจัย ไม่เพียงแต่เป็นการแลกเปลี่ยนความรู้เท่านั้น ภาคเอกชนทั้งหลายยังพร้อมสนับสนุนทรัพยากรต่างๆ เช่น เงินทุน บุคลากร และเครื่องมือที่เหมาะสม สำหรับผลักดันให้นวัตกรรมเกิดขึ้นจริง

 

แถมการจับมือกันผลักดันนวัตกรรมระหว่างมหาวิทยาลัยกับ Corporate ยังให้ผลลัพธ์ที่ดีจนเป็นการปูทางที่ทำให้หลายๆ Corporate กล้าลงทุนมากขึ้น โดยจากสถิติขององค์การวิทยาศาสตร์แห่งชาติสหรัฐฯ รายงานว่าตั้งแต่ปี 2006 ถึงปี 2016 บริษัทธุรกิจเอกชนในทุกอุตสาหกรรมจะลงทุนทำวิจัยกับมหาวิทยาลัยเพิ่มขึ้นปีละ 5.5% และเพิ่มจาก 2,400 เป็น 4,200 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ภายใน 10 ปีที่ผ่านมา

 

 

ไม่ใช่แต่ในสหรัฐฯ เท่านั้น แต่ยุโรปก็ตื่นตัวเช่นกัน โดยคณะกรรมาธิการยุโรปได้จัดตั้ง สถาบันนวัตกรรมและเทคโนโลยีแห่งยุโรป (European Institute of Innovation and Technology) ซึ่งทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางเชื่อมโยงภาคการศึกษา สถาบันวิจัย และภาคธุรกิจในเครือข่าย 15 ประเทศทั่วภูมิภาคยุโรป

 

หาจุดร่วมระหว่างความล้ำหน้าของเทคโนโลยีกับประโยชน์ต่อสังคม ผ่านการประสานความรู้ข้ามสาขาวิชา

ใช่ว่าเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่พัฒนาขึ้นมาจะเป็นประโยชน์กับสังคมได้เลยอัตโนมัติโดยไม่ต้องใช้ความพยายามและปัจจัยอื่นๆ จึงจำเป็นต้องมีการผสานศาสตร์และความรู้อันหลากหลายเพื่อให้การพัฒนาให้มีการใช้งานและเกิดประโยชน์จริงๆ ยกตัวอย่างเช่น

  • วิชาปรัชญา สุนทรียศาสตร์ และจริยศาสตร์ที่จะช่วยให้นวัตกรรมพัฒนาไปถูกทาง
  • วิชารัฐศาสตร์และเศรษฐศาสตร์ สำหรับการวางแผน ขยายผลของนวัตกรรมให้ครอบคลุมภาพใหญ่
  • วิทยาศาสตร์ประยุกต์และสังคมศาสตร์ที่จะเข้ามาร่วมออกแบบนวัตกรรมให้สอดคล้องกันทั้งผู้ใช้งานและเครื่องมือ

การประยุกต์ศาสตร์และวิชาหลายแขนงจะทำให้นวัตกรรมตอบโจทย์ภาพกว้างและลึกของสังคม นำไปสู่ผลิตภัณฑ์และบริการที่สร้างความเปลี่ยนแปลงกับสังคมได้จริง

จะเห็นได้ว่าในฐานะผู้ให้การศึกษา มหาวิทยาลัยเป็นสถาบันสำคัญที่จะช่วยเตรียมความพร้อมให้กับนักศึกษาเพื่อให้ออกไปเป็นแรงสำคัญในการพัฒนาโลกและตอบรับกับตลาดแรงงานที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วโดยเฉพาะการเข้ามาของเครื่องมือดิจิทัลที่เปลี่ยนจาก“เศรษฐกิจฐานการผลิต” เป็น “เศรษฐกิจฐานความรู้”

 

เมื่อหันกลับมามองในบริบทของประเทศไทย ภาคการศึกษาในประเทศไทยก็ไม่ได้นิ่งนอนใจและเริ่มแสดงให้เห็นถึงความกังวลและ แนวทางปรับตัวของสถาบันการศึกษาในไทยผ่านการเสวนาในงานเปิดตัวโครงการ U.REKA ด้วยการปรับปรุงแนวคิดและเป้าหมายร่วมกับองค์กรเอกชนเช่น Digital Ventures, Microsoft Thailand และ The Knowledge Exchange (KX) เพื่อบ่มเพาะบัณฑิตให้เกิดทักษะที่สอดคล้องต่อการพัฒนานวัตกรรมที่ส่งผลต่อเศรษฐกิจของประเทศด้วยการสนับสนุนระยะยาว

 

 

ตอนนี้โครงการ U.REKA กำลังเปิดรับสมัครอาจารย์ นักศึกษา นักวิจัย และผู้ที่สนใจพัฒนาผลิตภัณฑ์เน้นที่อุตสาหกรรมค้าปลีก,ท่องเที่ยว, การเงิน หรืออื่นๆ ที่น่าสนใจ ด้วยเทคโนโลยี Deep Tech 6 สาขา ได้แก่ AI กับ Machine Learning, Blockchain, Cloud Security, Big Data กับ Data Analytic, Virtual Reality กับ Augment Reality และ Quantum Computer โดยสามารถเข้าไปดูรายละเอียดเพิ่มเติมและสมัครได้ที่ u-reka.co ภายในวันที่ 15 พฤษภาคมนี้

 

ขอบคุณที่มาของข้อมูล

https://www.weforum.org/agenda/2018/01/4-ways-universities-are-driving-innovation

Comments