2019 ตลาดค้าปลีกฟื้นตัวก้าวสู่ Omni channel

2019 ตลาดค้าปลีกฟื้นตัวก้าวสู่ Omni channel

Ecommerce

GlobalLinker Staff

GlobalLinker Staff

244 week ago — 4 min read

 

แม้ว่าภาพรวมธุรกิจค้าปลีกของไทยในปีที่ผ่านมาจะเติบโตเพียง 3.1% หลายสำนักก็ยังมองว่ายังมีสัญญาณฟื้นตัวอยู่ในทุก ๆ หมวดสินค้าแต่อาจจะเป็นการฟื้นตัวแบบช้า ๆ โดยในครึ่งปีหลังยังคงคาดหวังกับการลงทุนของภาครัฐในโครงสร้างพื้นฐานสำคัญว่าจะเป็นไปตามแผนที่กำหนดไว้ รวมถึงมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลปัจจุบัน ฯลฯ จึงน่าจะเป็นโอกาสที่ตลาดค้าปลีกจะเติบโตได้ต่อในช่วงปลายปี

 

แต่เท่าที่ผ่านมาผู้ประกอบการธุรกิจค้าปลีกรายใหญ่ ๆ ยังคงเดินหน้าขยายสาขาอย่างต่อเนื่องโดยเน้นการปรับรูปแบบให้มีขนาดที่เล็กลง มีความหลากหลายมากขึ้นเพื่อรองรับกับพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป และการขยายออกไปสู่ประเทศในกลุ่ม CLMV มากขึ้น นอกจากการนั้นยังมีการปรับตัวที่ดูว่าสำคัญที่สุดคือการนำช่องทางออนไลน์เข้ามาผสานกับออฟไลน์ โดยนำเอาเทคโนโลยีใหม่ ๆ และเรื่องของ big data เข้ามาเชื่อมทั้งสองช่องทางเข้าด้วยกัน

 

ในเรื่องของการปรับตัวเพื่อความอยู่รอดของธุรกิจ ผู้ประกอบการค้าปลีกในระดับ SMEs ก็ต้องให้ความสำคัญเช่นเดียวกัน เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงของพฤติกรรมผู้บริโภคที่เน้นความสะดวกรวดเร็ว จำนวนสมาชิกในครอบครัวมีน้อยลง นิยมการช้อปปิ้งและชำระเงินด้วยช่องทางออนไลน์ ฯลฯ จึงจำเป็นที่จะต้องให้ความสำคัญกับเรื่องของการนำนวัตกรรมหรือเทคโนโลยีเข้ามาใช้ในธุรกิจ ไม่ว่าจะเป็นการวิเคราะห์ข้อมูล big data การนำเทคโนโลยี AI เข้ามาช่วยในการบริหารจัดการร้านค้า รวมถึงการเชื่อมโยงช่องทางออฟไลน์และออนไลน์เข้าไว้ด้วยกัน

 

การเชื่อมโยงธุรกิจค้าปลีกเข้าไว้ด้วยกันอย่างไร้รอยต่อระหว่างออฟไลน์และออนไลน์ นั่นก็คือ Omni Channel หรือ O2O (Online to Offline) จะช่วยตอบสนองความต้องการและสร้างประสบการณ์ใหม่ให้กับผู้บริโภคได้ดีกว่าเดิม และอาจเป็นหนึ่งทางรอดสำคัญสำหรับธุรกิจค้าปลีกรายย่อยได้

 

Omni Channel ไม่ใช่เรื่องใหม่แต่อย่างใดเพราะมีการใช้มาสักพักแล้วทั้งจากฝั่งตะวันตกอย่างแบรนด์ใหญ่อย่าง Nike ที่รูปแบบของสินค้าที่นำมาวางขายมาจากการวิเคราะห์ความต้องการของลูกค้าผ่านประวัติการซื้อจากช่องทางออนไลน์ หรือร้านสะดวกซื้ออย่าง Amazon Go ที่ลูกค้าสามารถหยิบสินค้าสแกนผ่านแอปพลิเคชันแล้วเดินออก โดยชำระเงินจากแอปพลิเคชันในมือถือแบบอัตโนมัติ

 

หรือในฝั่งจีนที่ก็มีแนวคิดที่คล้ายคลึงกันก็คือ New Retail เป็นเชื่อมโยงโลกออนไลน์ ออฟไลน์ ระบบขนส่ง และเทคโนโลยี Data Analytics และ AI เข้ามาผสานการทำงานร่วมกัน แนวคิดของอาลีบาบานี้ได้พลิกโฉมธุรกิจค้าปลีกของจีนจากโชห่วยแบบดั้งเดิมกลายเป็นโชห่วยรูปแบบทันสมัยที่สามารถซื้อสินค้าได้ทั้งจากที่ร้านหรือเว็บไซต์และมารับได้ที่ร้าน ชำระค่าสินค้าผ่านมือถือ และร้านยังเป็นศูนย์ปล่อยสินเชื่อได้อีกด้วย

 

ซูเปอร์มาร์เก็ตอย่างเหอหม่า ลูกค้าที่มีแอปพลิเคชันสามารถการสแกนบาร์โค้ดดูข้อมูลสินค้าจากมือถือรวมทั้งแอปฯ สามารถแนะนำสินค้าอื่น ๆ ที่ลูกค้าอาจสนใจ ชำระค่าสินค้า ให้พนักงานจัดสินค้าแล้วนำไปส่งให้ที่บ้านได้เลย ลูกค้ายังสามารถสั่งสินค้าทางออนไลน์และให้ไปส่งถึงหน้าบ้านได้เช่นกัน นอกจากนี้ ในโซนซีฟู้ดยังสามารถสั่งให้พนักงานปรุงอาหารและรับประทานได้ที่ร้านหรือจัดส่งไปที่บ้านก็ยังได้

 

แนวคิด Omni Channel หรือ New Retail  ของจีนนี้ยังมีตัวอย่างที่ประสบความสำเร็จอื่น ๆ อีก เช่น ร้านสะดวกซื้อที่ไม่ใช้พนักงาน Tao Café แค่สแกนบาร์โค้ด หยิบสินค้าแล้วเดินออกได้เลย ชำระเงินด้วยแอปพลิเคชันในมือถือโดยอัตโนมัติ

 

จากตัวอย่างที่กล่าวมาข้างต้น ผู้ประกอบการคนไทยเองก็สามารถนำแนวคิดเหล่านี้ไปปรับใช้กับธุรกิจของตนได้ สิ่งสำคัญที่สุดก็คือการปรับตัวยอมรับและนำเทคโนโลยีใหม่ ๆ เข้ามาใช้ประโยชน์ในธุรกิจ เพื่อเข้าใจเข้าถึงข้อมูลเชิงลึกของผู้บริโภค และเพื่อความอยู่รอดของธุรกิจในระยะยาว

 

 

Comments