Change "Business RISK" to be "Opportunity" ตอนที่ 1

Change "Business RISK" to be "Opportunity" ตอนที่ 1

ไอเดียและนวัตกรรม

Kamjud Surapinchai

Kamjud Surapinchai

288 week ago — ใช้เวลาอ่าน 5 นาที

 

จากประสบการณ์ของผมที่ได้เดินทางและได้ทำงานร่วมกับคนเวียดนาม ทั้งฮานอย ดานัง โฮจิมินห์ ผมมีความเห็นส่วนตัวว่า โอกาสที่คนไทย ธุรกิจไทย “น่าจะ” สามารถใช้ศักยภาพที่เรามีอยู่สร้างโอกาส ไปขยายตลาดที่ประเทศเวียดนามได้ มีดังนี้ครับ

 

  1. ด้านสุขภาพ ความสวยความงาม รวมทั้งเรื่องของการนวดเพื่อสุขภาพและการรักษาพยาบาลแม้ว่าโดยเฉลี่ยคนเวียดนามจะเป็นคนที่รับประทานผักมาก healthy food แต่ปัจจุบัน อาหารหลากหลายเชื้อชาติเข้ามาในเวียดนามเยอะมาก เหมือน ๆ กับบ้านเราครับ ประกอบกับคนหนุ่มคนสาว ในวัยทำงานเริ่มมีรายได้มากขึ้น กินอาหารตามใจปากมากขึ้น แต่ก็ยังต้องการรักสวยรักงาม (สังเกตุจากการขี่รถมอเตอร์ไซค์ต้องใส่ปลอกแขนป้องกันแดด หรือแม้กระทั่งขับรถยนต์เองก็ตามครับ) นี่ก็เป็นตลาดที่น่าสนใจครับ อีกประการหนึ่งเรื่องของการรักษาพยาบาลอย่างมีคุณภาพที่เวียดนามยังต้องการอีกมากนะครับ โรงพยาบาลที่เป็น International มีไม่กี่โรงพยาบาลครับ ในขณะที่คนเวียดนามมีกำลังทรัพย์มากขึ้น ยินดีที่จะจ่ายในการรักษาพยาบาล ประเทศไทยของเราเก่งมากในเรื่องของ Heath & Wellness น่าจะเข้าไปสร้างธุรกิจที่เวียดนามได้ดีครับ

 

  1. เรื่องของการเกษตรแปรรูป คนไทย นักธุรกิจไทยเก่งมากในเรื่องของการแปรรูปสินค้า ในขณะที่เวียดนามเองก็มีวัตถุดิบในด้านการเกษตรไม่น้อยไปกว่าเมืองไทย ตลาดนี้ก็ยังมีโอกาสครับ อย่างไรก็ตาม เราอาจจะจำเป็นต้องไปพัฒนาเกษตรที่เป็น “ต้นน้ำ” ก่อน เพื่อให้ได้ผลผลิตตรงตามที่เราต้องการครับ

 

  1. เรื่องของการท่องเที่ยว โดยเฉพาะเรื่องการบริหารการจัดการ เวียดนามมีแหล่งท่องเที่ยว ทั้งธรรมชาติ วัฒนธรรม งานประเพณี ไม่น้อยไปกว่าเมืองไทยเลยนะครับ (มีมรดกโลก 7-8 แห่งในเวียดนาม) แต่การท่องเที่ยวของเขายังต้องการการพัฒนา ต้องการการบริหาร การจัดการอีกมากครับ ปัจจุบันมีนักท่องเที่ยวเข้าเวียดนามเดือนละ 1 ล้านคนโดยเฉลี่ย ในขณะที่ของไทยเรามากกว่า 3 ล้านคนต่อเดือน ห่างกันมากกว่า 3 เท่าตัวครับ นอกจากนั้น การลงทุนในด้านที่พัก โรงแรม Hostel, Boutique hotel หรืออื่น ๆ เพื่อรองรับนักท่องเที่ยวก็น่าสนใจนะครับ เพราะศักยภาพในการท่องเที่ยวของเวียดนามนับวันจะเพิ่มมากขึ้น ๆ ครับ (นึกภาพดูครับว่า ถ้านักท่องเที่ยวเข้าไปเที่ยวเวียดนามเป็นจำนวนเท่า ๆ กับเมืองไทยในขณะนี้ ตลาดของที่พัก นักท่องเที่ยวจะเติบโตมากแค่ไหนครับ)

 

  1. อาหารไทย เมื่อพูดถึงเรื่องการท่องเที่ยวของประเทศไทยก็ต้องพูดถึงอาหารไทยครับ ตลาดอาหารไทยที่เป็นแบบ authentic คือ Real thai ที่เวียดนามผมว่ายังมีโอกาสอีกมาก พ่อครัวแม่ครัวเมืองไทยมีเยอะมากนะครับ แหล่งที่ดีมาก ๆ คือตลาดโต้รุ่ง street food หรือแม้แต่ร้านข้าวต้มกลางคืน พ่อครัวแม่ครัวกลุ่มนี้ทำอาหารอร่อยมาก แต่เขาอาจจะไม่มีทุน (จับเอามาเป็นหุ้นส่วนทางธุรกิจ 3 ฝ่ายเลยครับ  พ่อครัวแม่ครัว นักลงทุน และเจ้าของพื้นที่-คนเวียดนาม) เราอาจจะยกระดับ street food ที่เมืองไทยไปเป็น “ร้านอาหารไทย” ที่เวียดนาม รองรับคนเวียดนามที่เคยมาเที่ยวเมืองไทย รวมทั้งนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ใช้ไทยเป็นฐานในการไปเที่ยวต่อที่เวียดนาม (เพื่อนผมทุกคนไม่เฉพาะคนเวียดนามนะครับ 10 ประเทศในอาเซียน จีน ฮ่องกง ไต้หวัน หรือแม้กระทั่งอินเดีย ที่มาเมืองไทย ทุกคนชอบอาหารไทยครับ อาจจะลดความเผ็ดลงมานิดนึง)

 

  1. เรื่องของการพัฒนาบุคลากร Capability development ธุรกิจในเวียดนามขยายตัวเร็วมาก ๆ ครับ (GDP ของเขาประมาณ 6-7% และจะเป็นอย่างนี้อีกหลาย ๆ ปีข้างหน้าครับ) ทำให้ธุรกิจต่าง ๆ ขาดแรงงานที่เป็น skill labor (แม้ว่าประชากรเวียดนามจะมีคนที่อยู่ในช่วง “วัยทำงาน” มากก็ตามครับ) การตั้งศูนย์การเรียนรู้และพัฒนาบุคลากร จึงเป็นตลาดที่น่าสนใจอีกตลาดหนึ่ง ช่วยลดการทำงานของแผนก HR ในแต่ละบริษัทฯ ช่วยลดค่าใช้จ่ายในการจ้าง Expat เป็นต้น โดยที่ธุรกิจต่าง ๆ ก็จะส่งคนเข้ามารับการเทรนนิ่ง การฝึกอบรม จากศูนย์พัฒนาศักยภาพของบุคลากร (Capability Development Center) เป็นต้น อย่างไรก็ตาม เราควรจะนำจุดแข็งของเราไปสร้างคอร์สการอบรม การพัฒนาบุคลากรขึ้นมาครับ ยกตัวอย่างเช่น การฝึกอบรมแม่บ้านสำหรับโรงแรม 4-5 ดาว การฝึกอบรมการขายสินค้าในร้านขายของฝาก การฝึกอบรมเรื่องของการบริการในร้านอาหารครับ (อ้อ! อุปสรรค ก็อาจจะเป็นภาษาเวียดนามที่ผู้ฝึกสอนอาจจะต้องพูดเสียงในฟิล์มครับ 5555)

 

  1. เรื่องของสิ่งแวดล้อม ปัจจุบันเวียดนามมีปัญหาเรื่องของสิ่งแวดล้อมโดยเฉพาะขยะมาก ๆ (ประชากรเวียดนามมีมากกว่าไทยเรา 1/3 แต่มีพื้นที่ทั้งประเทศน้อยกว่าเรา 1/3 ขณะนี้ประเทศไทยเรามีปัญหาเรื่องการหาพื้นที่ในการทิ้งขยะ เวียดนามยิ่งมีปัญหามากกว่าเราอีกครับ) รัฐบาลจึงได้เข้ามาส่งเสริมธุรกิจที่ช่วยหรือหรือเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (เมืองไทยเราเพิ่งตื่นตัวอย่างจริงจังใน 2-3 ปีนี้เองครับ) ตลาดนี้ก็น่าสนใจครับ

 

บทความนี้เบื้องหลังของผมคืออยากจะให้เพื่อน ๆ ของผมมองเวียดนามอีกด้านครับ คือมองเป็นหุ้นส่วนทางธุรกิจ “มากกว่า” ที่จะมองเวียดนามเป็นคู่แข่งขันทางธุรกิจครับ เพราะถ้าเรามองเขาเป็นหุ้นส่วนทางธุรกิจ และเอาจุดแข็งของเราไป Apply ใช้ในการทำธุรกิจ โอกาสในการทำธุรกิจที่เวียดนามจะมีมากมาย มากกว่าที่ผมได้กล่าวไว้เบื้องต้น 6 ข้อนี้อีกครับ เช่น ด้าน Logistics, Entertainment ฯลฯ

 

แม้ว่าโอกาสทางธุรกิจจะดูสดใสแต่ความแน่นอนคือความไม่แน่นอนครับ ตอนหน้าเราไปดูวิธีกระจายความเสี่ยงในการประกอบธุรกิจกันนะครับ

Comments (1)

เครือข่ายกับ SMEs ที่กล่าวถึงในบทความนี้

บทความอื่น ๆ ที่เขียนโดย Kamjud Surapinchai

ดูทั้งหมด