Co-Working Space Start-up เพื่อการทำงานในยุค Digital

Co-Working Space Start-up เพื่อการทำงานในยุค Digital

Export Sector

GlobalLinker Staff

GlobalLinker Staff

330 week ago — 6 min read

ถ้าคุณ...

☑ ไม่ชอบใช้ชีวิตแบบมนุษย์เงินเดือน

☑อยากมีสมดุลชีวิตทั้งเรื่องงานและเรื่องส่วนตัว

☑อยากทำงานอิสระ เป็นเจ้านายตัวเอง เป็นพวกฟรีแลนซ์

☑อยากอยู่ในสิ่งแวดล้อมและบรรยากาศของการทำงาน

☑ไม่อยากนั่งเหงาอยู่บ้าน อยากได้แรงบันดาลใจและไอเดียใหม่ๆ

☑กำลังเริ่มต้นธุรกิจใหม่ แต่ยังไม่พร้อมลงทุนไปกับค่าเช่าและอุปกรณ์สำนักงาน

☑อยากได้คำแนะนำจากคนที่มีประสบการณ์มาก่อน

☑อยากเจอคนมาร่วมลงทุนด้วยกัน

☑ฯลฯ

ถ้าสิ่งที่คุณต้องการมีเกินครึ่งหนึ่งของลิสต์ข้างต้น Co-Working Space อาจเป็นคำตอบที่คุณตามหาอยู่ก็ได้ เชื่อว่าคงเคยได้ยินเรื่องของ Co-Working Space มาบ้างแล้ว หลายคนอาจจะเคยเข้าไปลองใช้บริการมาแล้วด้วย เรียกได้ว่าตอนนี้ Co-Working Space กำลังกลับมาได้รับความสนใจหลังจากที่อาจจะดูแผ่วลงไปสักพักนึง และยิ่งวันนี้ได้มีการต่อยอดขยายบริการออกไปนอกเหนือไปจากเป็นพื้นที่ในการทำงานร่วมกันแล้วในช่วงเวลากลางวัน บางแห่งยังมีการเปิดให้บริการตลอด 24 ชั่วโมง และบางแห่งยังมีพื้นที่ให้ได้งีบหลับพักสายตาในช่วงสั้นๆ อีกด้วย

 

Co-Working Space มีดีอะไร

ต้องยอมรับว่าคนวัยทำงานในวันนี้ไม่นิยมการเป็นมนุษย์ออฟฟิศที่มีกรอบ กฎเกณฑ์ และข้อบังคับมากมายนัก อยากที่จะเป็นเจ้านายตัวเอง ต้องการมีเวลาให้กับตัวเองพอๆ กับที่ให้กับหน้าที่การงาน อยากเร่งสร้างความมั่นคงให้กับชีวิตตนเอง อยากเป็นเจ้าของธุรกิจเองไม่อยากเหนื่อยเพื่อคนอื่น ฯลฯ เหล่านี้เองที่ทำให้พวกเขาหันเหความสนใจมาทำงานของตัวเองมากขึ้นเรื่อยๆ หลายคนคิดเริ่มต้นทำธุรกิจหรือออกมาทำงานประเภทฟรีแลนซ์ มาดูกันว่า Co-Working Space สามารถตอบโจทย์อะไรให้ได้บ้าง

  • ควบคุมค่าใช้จ่ายได้ การใช้บริการ Co-Working Space สามารถเลือกใช้บริการตามแพ็กเกจราคาต่างๆ ที่คิดเป็นรายชั่วโมง รายวัน รายอาทิตย์ หรือรายเดือนได้ตามแต่สะดวก ช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายได้เป็นอย่างดี โดยเฉพาะกับคนที่เพิ่งเริ่มลงทุนในกิจการ และยังมีเงินลงทุนน้อยอยู่

  • มีให้ครบในทุกๆ สิ่ง ทั้งในเรื่องของอุปกรณ์สำนักงาน เฟอร์นิเจอร์โต๊ะ เก้าอี้ ห้องประชุม ห้องครัว มุมพักผ่อน รวมไปถึงบางแห่งมีบริการขนมและเครื่องดื่มให้ฟรี มีไวไฟให้ใช้รองรับกระแสดิจิทัลในโลกวันนี้

  • รองรับรูปแบบชีวิตของคนรุ่นใหม่ ทำเลที่ตั้งส่วนใหญ่ของ Co-Working Space จะอยู่ในทำเลที่เดินทางสะดวก มีความยืดหยุ่นให้ในเรื่องของเวลาการทำงาน ช่วยสร้างแรงผลักในการทำงาน เป็นแหล่งที่จะได้เจอคนที่สนใจในเรื่องใกล้เคียงกัน มีคนที่สามารถให้คำตอบ คำแนะนำในเรื่องที่ต้องการได้ และอาจพบแหล่งทุนที่นี่ก็ได้

 

ก่อนคิดลงทุนทำ Co-Working Space

แม้ว่า Co-Working Space จะตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ให้กับตัวเราเองก็ตาม แต่การตัดสินใจที่จะมาลงทุนทำเองนั้นต้องทำการศึกษาและการวางแผนให้ดีเสียก่อน ดังนั้น สิ่งต้องคำนึงถึงคืออะไรบ้าง

  1. เรื่องของเงิน ต้องมองถึงงบการเงินที่ต้องใช้ในการลงทุนตั้งแต่ครั้งแรก ต้องคำนึงถึงค่าเช่าสถานที่ที่มีทำเลต่างๆ กันราคาก็ต่างกันด้วย การออกแบบตกแต่งพื้นที่ทั้งภายนอกและภายใน ค่าเฟอร์นิเจอร์ โต๊ะ เก้าอี้ ฯลฯ เครื่องปรับอากาศ อุปกรณ์สำนักงานต่างๆ อินเทอร์เน็ต ค่าน้ำค่าไฟ อาจรวมไปถึงสิ่งอำนวยความสะดวกอื่นๆ และค่าบุคลากรที่มีอยู่ในปัจจุบันและอาจเกิดขึ้นในอนาคต แบ่งแบบคร่าวๆ ได้เป็น ค่าเช่าพื้นที่ราว 60-70% ค่าพนักงาน 10-20% ค่าน้ำค่าไฟ 10% และค่าเบ็ดเตล็ดอีก 10% ซึ่งในการวางแผนอาจมองไปถึงตัวเงินที่จะได้รับจากรายได้หลักคือค่าใช้บริการสถานที่ส่วนกลางประมาณ 60% ค่าเช่าห้องประชุม 10% ค่าเช่าพื้นที่จัดกิจกรรม 15% ค่าบริการอาหารเครื่องดื่ม 5% ค่าเวิร์คชอปต่างๆ 5% ค่าบริการอื่นๆ และอาจมีรายได้จากช่องทางอื่น เช่น การจัดอีเวนต์ จัดอบรมสัมมนา ค่าที่ปรึกษาทางธุรกิจ ค่าแมสเซนเจอร์ ค่าเคานเตอร์รับชำระค่าบริการต่างๆ ค่าเครื่องดื่มอาหารว่าง ค่าห้องพักสำหรับคนที่ต้องเดินทางไปพร้อมกับทำงาน และอื่นตามแต่จะจัดบริการได้ ซึ่งต้องวางแผนด้านการจัดการให้ดี ควรคืนทุนให้ได้ภายใน 3 ปี (ตัวอย่างอัตราค่าบริการในเขตกรุงเทพฯ อยู่ระหว่าง 150-300 บาท ขึ้นอยู่กับทำเลที่ตั้งว่าอยู่ในเขตเมืองหรือชานเมือง และคู่แข่งในบริเวณใกล้เคียง รวมถึงต้นทุนในการดำเนินธุรกิจ)

  2. เน้นคอนเซปต์เป็นจุดขาย ต้องสร้างบรรยากาศที่เป็นเอกลักษณ์ของตัวเอง ให้เกิดเป็นชุมชนหรือกลุ่มคนที่มีบุคลิกหรือมีความสนใจในเรื่องคล้ายๆ กันมาอยู่รวมกัน เกิดเป็นเครือข่ายที่สามารถแบ่งปันข้อมูลความรู้ ประสบการณ์ ช่วยชี้ทางออก หรือเกื้อกูลกันต่อไปได้ ซึ่งจุดนี้ถือเป็นความต้องการสำคัญโดยเฉพาะกับกลุ่ม Startup ที่คาดหวังว่าจะได้ไอเดียหรือความช่วยเหลือ ซึ่งเราควรที่จะต้องให้คำปรึกษาได้หรือจัดกิจกรรมเพิ่มพูนความรู้ รวมถึงแนะนำคอนเนคชั่นที่เป็นประโยชน์ให้แก่ลูกค้าได้ด้วย

  3. อนาคตยังสดใส แม้ว่า Co-Working Space หลายๆ ที่จะปิดตัวไปบ้าง แต่ด้วยไลฟ์สไตล์ของคนรุ่นใหม่ที่ต้องการเป็นเจ้านายตัวเอง ต้องการสร้างความมั่นคงให้กับตัวเองให้เร็วที่สุด ไม่ต้องการที่จะถูกตีกรอบด้วยกฎระเบียบข้อห้ามต่างๆ บรรดา Start-up ใหม่ๆ ยังคงต้องการพื้นที่ในการทำงานที่รองรับความต้องการทั้งหลายเหล่านี้ได้ และหากเทียบจำนวน Co-Working Space ที่มีอยู่กับความต้องการที่มีแนวโน้มมากขึ้นเรื่อยๆ ถือได้ว่ายังมีโอกาสเติบโตอีกมาก เพียงแต่ Start-up ที่จะลงทุนในธุรกิจ Co-Working Space นี้ต้องศึกษาและเตรียมความพร้อมของตัวเองให้มากพอที่จะรับมือกับความต้องการของลูกค้าให้ได้

 

สุดท้ายคือมุมมองในการจัดการที่ต้องให้ความสำคัญเพื่อทำให้ธุรกิจ Co-Working Space บรรลุเป้าหมายอย่างแท้จริง

1. มองไปที่ความเป็น Community ก่อนแล้วจึงไปดูเรื่องของการจัดการพื้นที่

2. มุ่งเน้นไปที่ฟังก์ชันของการใช้งานส่วนต่างๆ และสภาพแวดล้อมก่อน

3. เรื่องของทำเลก็ยังสำคัญ

4. เน้นสิ่งอำนวยความสะดวก แล้วค่อยมาดูเรื่องของเฟอร์นิเจอร์

5. หาความต้องการลูกค้าให้เจอโดยเร็ว

6. มองหาความช่วยเหลือจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้

7. มีปัญหาปรึกษาผู้ที่มีประสบการณ์ด้านนี้จริงๆ

 

หากวางแผนจัดการให้ดีพร้อมสำหรับการลงทุน Co-Working Space ยังน่าจะเป็น Start-up ที่น่าสนใจ นอกจากตอบสนองไลฟ์สไตล์และธุรกิจของเราเองได้แล้ว ยังสามารถสร้างรายได้และสานต่อธุรกิจทั้งของเราและบรรดา Start-up อื่นๆ ได้อีกด้วย

 

Co-Working Space Start-up เพื่อการทำงานในยุค Digital

Comments