E-Commerce เครื่องมือที่ทำให้รู้ใจผู้ใช้งาน

E-Commerce เครื่องมือที่ทำให้รู้ใจผู้ใช้งาน

Marketing

GlobalLinker Staff

GlobalLinker Staff

267 week ago — 4 min read

ได้มีการคาดการณ์ไว้ว่าในปี 2019 นี้จะเป็นปีที่ e-commerce ในประเทศไทยจะมีการเติบโตอย่างมาก เนื่องมาจากตัวเลขการเติบโตที่มีอย่างต่อเนื่องจากปีที่ผ่านมา บริษัทยักษ์ใหญ่ในวงการอีคอมเมิร์ซได้เข้ามาในไทยครบแล้ว มีการทุ่มเงินในการทำโฆษณาและแคมเปญต่าง ๆ จำนวนมหาศาลทำให้ยอดขายเติบโตอย่างต่อเนื่อง

 

แรงบวกจากปีที่ผ่านมาที่สินค้าจีนได้ทะลักเข้ามาในในเว็บมาร์เก็ตเพลสจำนวนมหาศาล คนในต่างจังหวัดตอบรับในเรื่องของอีคอมเมิร์ซมากขึ้นมาก โซเชียลคอมเมิร์ซเองก็เติบโตไม่หยุด ที่สำคัญการซื้อของออนไลน์ผ่านมือถือของคนไทยได้รับความเชื่อถือทำให้มีการเติบโตที่มากขึ้นด้วยเช่นกัน

 

ในส่วนของโครงสร้างพื้นฐานนั้นมีความแข็งแรงมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการขนส่งต่าง ๆ มีผู้เล่นจำนวนมากขึ้น รวดเร็วขึ้น มีการแข่งขันในเรื่องของคุณภาพและการให้บริการ ระบบการชำระเงินก็มีการพัฒนาขึ้นโดยเฉพาะมีบริการเก็บเงินปลายทางที่ได้รับความนิยมอย่างมาก ทั้งหมดนี้ส่งผลให้คนไทยเปลี่ยนพฤติกรรมเข้าสู่โลกออนไลน์มากยิ่งขึ้น

 

จากข้อมูลของ  ETDA (Electronic Transaction Development Agency) พบว่าปีที่ผ่านมาเป็นปีแรกที่การซื้อสินค้าออนไลน์นั้นติดอันดับท็อป 5 กิจกรรมหลักในการใช้งานอินเทอร์เน็ตของคนไทย สะท้อนให้เห็นถึงว่าประเทศไทยได้เข้าสู่สังคมดิจิทัลเต็มตัวแล้ว

 

นอกจากนี้แพลตฟอร์มสำคัญ ๆ ยังได้เปิดให้บริการในส่วนของการซื้อสินค้าออนไลน์ ไม่ว่าจะเป็น

  • Facebook มี Facebook Marketplace และเปิดบริการการชำระเงินผ่าน Facebook เอง

  • Google มี Google Shopping ที่สามารถกดซื้อสินค้าได้เลย

  • LINE และ Messenger มีการร่วมมือกับระบบ e-Payment

  • ธนาคารต่าง ๆ จะเริ่มเปิดให้บริการมาร์เก็ตเพลสรวมไปถึง SCB เองด้วยเช่นกัน

  • E-Marketplace เช่น Lazada, Shopee, JD Central จะเริ่มมีฟังก์ชั่นใหม่ ๆ เช่น มีบริการวอลเล็ทของตัวเอง

 

จะเห็นว่าจุดประสงค์หลักของทุกแพลตฟอร์มก็คือต้องการดึงให้ผู้ใช้งานใช้เวลาอยู่ในแพลตฟอร์มของตนให้นานที่สุด เพราะสิ่งที่ทุกคนต้องการก็คือฐานข้อมูลของผู้ใช้งาน หรือ Big Data ซึ่งเป็นส่วนสำคัญที่จะทำให้แพลตฟอร์มพัฒนาไปได้ถึงระดับขั้นที่เรียกว่ารู้ใจผู้ใช้งาน หรือสามารถที่จะทำการตลาดได้ในแบบ Personalization คือการตลาดในระดับบุคคล

 

ซึ่งทำให้สามารถเสนอขายสินค้าหรือบริการได้ตรงความต้องการของลูกค้ามากที่สุด ฐานข้อมูลจากการซื้อสินค้า การค้นหา การซื้อซ้ำ รูปแบบการชำระเงิน และการจัดส่งสินค้านี้เองที่มีความสำคัญอย่างยิ่งสำหรับการทำการตลาดในปัจจุบัน

 

บางแพลตฟอร์มเรียกว่ายอมขาดทุนคือไม่มีการสร้างรายได้เลย แต่สิ่งที่ได้มานี้ถือว่า Big Data ที่ใหญ่มากและถือว่าคุ้มค่า เพราะสิ่งนี้จะแปรเปลี่ยนไปเป็นตัวแปรสำคัญในการช่วงชิงมาร์เก็ตแชร์ ซึ่งการหันมาทำ e-commerce ก็เป็นการสร้างเครื่องมือสำคัญให้กับแพลตฟอร์มที่จะทำให้ได้มาซึ่งอาวุธนั่นคือ big data ดังที่กล่าวมา

 

ต่อไปแต่ละแพลตฟอร์มอาจไม่ได้แค่มีกิจกรรมแค่อย่างใดอย่างหนึ่ง แต่จะมีครบทุกอย่างในแพลตฟอร์มเดียว จนลูกค้าไม่ต้องออกไปไหน เช่น ในแพลตฟอร์มที่เคยเป็นโซเชียลมีเดียก็จะมีมาร์เก็ตเพลส ระบบขนส่ง และบริการทางการเงิน ที่เคยเป็นมาร์เก็ตเพลสก็จะมีฟีเจอร์แชท มีฟีดข่าว มีบริการทางการเงิน และอื่น ๆ เพื่อให้ลูกค้าอยู่ด้วยนานที่สุด ฯลฯ

 

ผู้ประกอบการ SMEs อย่างเรา ๆ อาจต้องมองหาเครื่องมือที่สามารถนำมาใช้ของตนเองดูบ้าง เช่น ระบบแชทบอท ระบบการชำระเงินออนไลน์ ระบบขนส่ง ฯลฯ เพราะต่อไปนี้หากเราไม่รู้ใจลูกค้า เราเองนั่นแหละที่อาจโดนลูกค้าทิ้งไปก่อนที่จะรู้ตัวก็เป็นได้

 

Comments (1)