“FOMO” คืออะไร? ใครไม่รู้ ตกข่าว

“FOMO” คืออะไร? ใครไม่รู้ ตกข่าว

การตลาด

GlobalLinker Staff

GlobalLinker Staff

248 week ago — ใช้เวลาอ่าน 6 นาที

 

FOMO คืออะไร? ใครเคยได้ยินมาบ้างแล้วคงเข้าใจ แต่ถ้าคุณยังไม่เคยได้ยินคำนี้มาก่อนเลยแสดงว่าคุณได้พลาดอะไรไปเสียแล้ว อยากรู้ไหมล่ะว่ามันคืออะไร...ง่าย ๆ ถ้าคุณมีความรู้สึกแบบนี้คือ รู้สึกว่าไม่รู้และพลาดอะไรไปซะแล้ว เจ้าความรู้สึกนี้แหละที่จะอธิบายคำว่า FOMO ได้ใกล้เคียงที่สุด

 

FOMO ย่อมาจากคำว่า Fear Of Missing Out หรือความกลัวที่จะพลาดโอกาสอะไรบางอย่างไป กลัวที่จะไม่รู้เหมือนที่คนอื่นรู้ กลัวที่จะตกข่าว ตกกระแสหรือตกเทรนด์ ในแง่ธุรกิจ SMEs ก็สามารถที่จะใช้ประโยชน์จาก FOMO ในการทำการตลาดดิจิทัลได้เช่นกัน โดยการทำให้ลูกค้ารู้สึกว่าไม่ต้องการพลาดหรือปล่อยให้โอกาสให้หลุดมือไป เราจะเห็นไวรัลแคมเปญต่าง ๆ ที่มักจะกระตุ้นให้ลูกค้าเห็นว่าคนรอบตัวซื้อสินค้านี้แล้วตนเองก็ต้องซื้อด้วย

 

9 เทคนิคทำ FOMO marketing ให้มีประสิทธิภาพ

 

FOMO อาจไม่ใช่กลยุทธ์ที่ทำแล้วจะต้องประสบความสำเร็จในทุกครั้ง การใช้กลยุทธ์นี้อาจถูกมองไปในแง่ลบได้ง่ายมาก เพราะหากนำมาใช้เพื่อหลอกลวงลูกค้าหรือนำเสนออย่างมีเลศนัยเพียงนิดเดียว ลูกค้าก็จะสามารถทราบได้โดยทันที สิ่งสำคัญที่สุดที่ต้องมีคือความซื่อสัตย์และการสร้างข้อเสนอที่เหมาะสมกับผู้บริโภคจริง ๆ

 

เทคนิคต่อไปนี้สามารถนำมาใช้แบบรวมกันหลาย ๆ เทคนิคในแคมเปญเดียวกันได้

 

1. ใช้เงื่อนไขเรื่องเวลา ไม่มีวิธีใดที่ได้ผลเท่าการจำกัดเวลา การตั้งเงื่อนไขในเรื่องของเวลาสามารถกระตุ้นการตัดสินใจด้วยความกดดันภายใต้เวลาที่กำหนด การจัดแคมเปญจำเป็นเข้มงวดในเรื่องของเวลาจริง ๆ ห้ามยืดหรือต่อระยะเวลาเด็ดขาด เพราะลูกค้าจะคิดว่าเป็นการหลอกลวง อาจส่งผลต่อชื่อเสียงของแบรนด์ได้ เช่น มอบส่วนลด 20% หากสั่งซื้อภายใน 48 ชั่วโมง หรือจัดส่งฟรีในเดือนนี้เท่านั้น ในวันที่ 1 ของเดือนถัดไปข้อเสนอก็จะหมดไปทันที หมดช่วงเวลาเปลี่ยนราคาทันที

 

2. พลังของ Influencers คำพูดของที่มีอิทธิพลทางความคิดในโลกโซเชียลสามารถกระตุ้นการตัดสินใจของลูกค้าคนอื่น ๆ ได้เป็นอย่างดี การใช้ Influencers ใช้ได้ค่อนข้างมีประสิทธิภาพที่สุดโดยเฉพาะบนแพลตฟอร์ม Instagram นอกจากนี้ยังสามารถใช้คำพูดของ Influencers ในช่องทางอื่น ๆ ได้ด้วย เช่น เอาไปใช้ในหน้า Landing Page หรือ Sales page และที่อื่น ๆ ที่ลูกค้าจะพบเห็นได้ ใช้ได้แม้กระทั่งเป็นชื่อหัวข้อ e-newsletter ที่ส่งถึงลูกค้า

 

3. เสียงตอบรับหรือรีวิวจากลูกค้า และข้อมูลทางวิชาการ จะช่วยสร้างความน่าเชื่อถือและเป็นหนึ่งในเครื่องมือทางการตลาดที่ทรงพลังที่สุด แต่ต้องนำไปใช้ในเวลาที่เหมาะสมโดยเฉพาะใช้ช่วง the bottom of the funnel เพราะลูกค้าค่อนข้างพร้อมที่จะตัดสินใจซื้อ ในสถานการณ์ที่มีการแย่งกันซื้อสินค้าหรือของกำลังจะหมด สถานการณ์เหล่านี้มีนัยว่ามีบางสิ่งเป็นที่นิยมชมชอบของคนอื่น ๆ ถ้าไม่เลือกรีบซื้ออาจพลาดสิ่งดี ๆ ไปก็ได้ สิ่งนี้สามารถกระตุ้น FOMO ได้ดีทีเดียว

 

4. ขายสินค้าหรือบริการแบบควบรวม การจัดแพ็กรวมสินค้าหรือบริการทำกันมากในหลายธุรกิจ ที่ดูจะคุ้นเคยหรือได้รับความนิยมมาก เช่น การขายพ่วงในธุรกิจโทรคมนาคม บริการอินเทอร์เน็ต รวมถึงบริการทีวีแบบบอกรับสมาชิกหรือ Cable TV หรือการเสนอให้ลูกค้าเปิดบัญชีเงินฝาก บัตรเครดิต หรือสินเชื่อสวนบุคคล ควบคู่กับการขายหน่วยลงทุนหรือประกันภัยของธุรกิจธนาคาร การจัดแคมเปญขายสินค้าในลักษณะควบรวมทำให้ลูกค้าจ่ายน้อยลงกว่าเดิม และยังนำกลยุทธ์เรื่องของเวลาเข้ามาใช้ร่วมด้วยก็ได้ เช่น สิทธิพิเศษเพิ่มเติมหากตัดสินใจซื้อภายในเวลาที่กำหนด

 

5. ภาษากระตุ้นยอดขาย การสร้างความรู้สึกแบบ FOMO นั้นภาษามีความสำคัญอย่างมาก เมื่อต้องการให้ลูกค้ารู้สึกว่าเวลากำลังจะหมดไปและกำลังจะสูญเสียข้อเสนอที่น่าสนใจ อาจใช้คำกริยาและคำคุณศัพท์ที่กระทบความรู้สึกได้รุนแรง เช่น อย่าพลาด ของมีจำนวนจำกัด ทุกชิ้นราคาเดียว โอกาสทองใกล้หมดแล้ว ลดสุดขีด ลดล้างสต๊อค ฯลฯ เป้าหมายคือการส่งสารว่าหากลูกค้าของคุณไม่ทำอะไรตอนนี้พวกเขาจะเสียใจกับการตัดสินใจนั้น

 

6. กระจายช่องทางเผยแพร่ การตลาดแบบ FOMO ไม่ได้เพียงแค่ส่งเสริมการขายยังมีประโยชน์ในการสร้างแบรนด์ได้อีกด้วย โดยเฉพาะหากใช้วิธีการหลอมรวมช่องทางการสื่อสารแบบ omnichannel เช่น ส่งอีเมลเพื่อโปรโมตช่องทางพอดคาสต์ โดยมีโปรโมชั่นพิเศษในพอดคาสต์เท่านั้นไม่สามารถเห็นได้จากที่อื่น การเผยแพร่ในช่องทางต่าง ๆ กัน จะช่วยสร้างผู้ติดตามในหลายช่องทาง และช่วยสร้างการจดจำแบรนด์และความภักดีได้อีกด้วย

 

7. ข่าวสารเฉพาะกับกลุ่ม ใครว่าลีดต้องเป็นแค่ลีดตลอดไป เราสามารถเปลี่ยนพวกเขาได้ด้วยการเสนอคอนเทนต์ที่มีประโยชน์ให้แก่กลุ่มที่มีแนวโน้มว่าจะกลายเป็นลูกค้า แต่เป็นการให้ในจำนวนจำกัด แม้ต้องการใช้การตลาดแบบ FOMO เพื่อสร้างลีดมากกว่าการขาย แต่ผลลัพธ์ที่ได้อาจออกมาเหมือนกันได้

 

8. เสียงจาก UGC แม้ว่าการรีวิว เสียงตอบรับ Influencers หรือสิ่งที่เรียกว่า social proof จะมีอิทธิพลต่อลูกค้าหรือผู้บริโภค แต่ก็ไม่ควรมองข้ามกลุ่มผู้ติดตามที่ยินดีสร้างคอนเทนต์เกี่ยวกับแบรนด์ของคุณหรือที่เรียกว่า UGC (User Generated Content) ผู้ติดตามเหล่านี้ไม่ใช่คนแปลกหน้าหรือไกลกับลูกค้าเหมือนดาราและ Influencers ตรงกันข้ามพวกเขาใกล้ชิดเป็นเพื่อนหรือคนในครอบครัวเลยด้วยซ้ำ ดังนั้นเสียงของผู้ติดตามเหล่านี้มีความน้ำหนักอย่างมากต่อความรู้สึกของกลุ่มเป้าหมาย สามารถนำไปใช้เพื่อการตลาดแบบ FOMO ได้เช่นกัน

 

9. ใช้ป๊อปอัปคูปอง อีกหนึ่งวิธีที่ดีในการสร้าง FOMO ให้กับผู้คนคือการใช้คูปองแบบป๊อปอัปที่จะให้โอกาสแค่ครั้งเดียว ซึ่งอาจเป็นการให้ส่วนลดหรือมอบสิทธิพิเศษอื่น ๆ ป๊อปอัปคูปองมักจะปรากฏขึ้นเมื่อผู้เยี่ยมชมเว็บไซต์ของคุณกำลังปิดแท็บหรือหน้าต่างเบราว์เซอร์ ไม่ควรพลาดที่จะใช้วิธีนี้เพื่อให้ผู้เยี่ยมชมได้รู้ว่าพวกเขาได้รับโอกาสที่ดีแล้ว

 

FOMO marketing จะใช้ได้ผลจริงจำเป็นต้องกระตุ้นให้กลุ่มเป้าหมายเร่งตัดสินใจดำเนินการอย่างรวดเร็ว หากวางแผนโปรโมทดี ๆ กลยุทธ์ FOMO จะช่วยการขายได้มากยิ่งขึ้นอย่างแน่นอน

 

 

Comments (3)