Freemium โมเดลธุรกิจแบบใช้ฟรี ดีแล้วค่อยซื้อ

Freemium โมเดลธุรกิจแบบใช้ฟรี ดีแล้วค่อยซื้อ

การพัฒนาธุรกิจ

GlobalLinker Staff

GlobalLinker Staff

240 week ago — ใช้เวลาอ่าน 4 นาที

 

ยุคนี้เป็นยุคที่ทุกคนต่างมีสมาร์ทโฟน ซึ่งสมาร์ทโฟนนั้นย่อมใช้งานควบคู่กันไปกับแอปพลิเคชัน เวลามีแอปใหม่ ๆ ออกมาก็จะไปขึ้นอยู่ที่หน้าแรกของ App Store สำหรับ iOS และ Google Play สำหรับ Android ให้ผู้บริโภคได้ดาวน์โหลดมาใช้กัน ซึ่งส่วนใหญ่แล้วผู้บริโภคมักจะเลือกดาวน์โหลดแอปที่ไม่คิดค่าบริการ หรือมี Free Trial ให้ลองก่อนมาใช้งาน 

 

ผู้บริโภคส่วนใหญ่ต้องมั่นใจก่อนว่าจะได้ใช้ประโยชน์จากแอปนั้นจริง ๆ ถึงจะตัดสินใจจ่ายเงินให้เจ้าของแอป ผู้ให้บริการจึงต้องปรับตัวถ้าอยากเข้าถึงผู้บริโภค นี่จึงเป็นที่มาของ Freemium โมเดลธุรกิจที่กำลังเติบโตไปพร้อมกับยุคธุรกิจ 4.0 ที่อะไร ๆ ก็อิงกับโลกดิจิทัลและเทคโนโลยี 

 

มาทำความรู้จักกับ Freemium กันเถอะ

 

หลายคนคงสงสัยว่าอะไรคือ Freemium ตอบให้เข้าใจง่าย ๆ คือ Freemium มีที่มาจากคำว่า Free + Premium เป็นโมเดลธุรกิจที่ใช้กันอย่างแพร่หลายในบริษัทที่มีสินค้าเป็นแอป เกมส์ หรือมีบริการแบบออนไลน์ ที่ต้องการดึงดูดให้ผู้บริโภคเข้ามาใช้งาน เพราะสามารถเข้าถึงผู้บริโภคได้ง่ายกว่าแอปที่ต้องเสียเงินแต่แรก 

 

Freemium ต่างจาก Free Trial ตรงที่ผู้บริโภคจะสามารถเข้ามาใช้งานได้แบบไม่จำกัดระยะเวลา ต่างจาก Free Trial ที่มีการจำกัดระยะเวลา แต่ Freemium จะจำกัดฟีเจอร์ในการใช้งาน ซึ่งผู้บริโภคจะสามารถใช้งานได้แค่ฟีเจอร์พื้นฐาน ที่เพียงพอต่อการใช้งานเบื้องต้น แต่หากผู้บริโภคต้องการฟีเจอร์ที่มากขึ้นก็จะต้องเสียเงินจ่ายค่าบริการให้เจ้าของแอป เพื่อไปใช้บริการแบบ Premium ในท้ายที่สุด

 

ข้อดีและข้อเสียของการใช้โมเดล Freemium

 

หากเจ้าของแอปคิดค่าบริการแต่แรกผู้บริโภคก็ไม่ใช้แอป แต่หากเจ้าของแอปเปิดให้ใช้งานฟรีบริษัทก็อยู่ไม่ได้ Freemium จึงเข้ามาแก้ไขปัญหาตรงนี้และไม่ทำให้บริษัทขาดทุนในท้ายที่สุด เพราะ Freemium ทำให้แอปเข้าถึงผู้ใช้งานได้เป็นจำนวนมาก เพราะเมื่อเปิดให้เข้าใช้งานฟรี ก็มีโอกาสดึงดูดให้ผู้บริโภคตัดสินใจโหลดมาใช้งานแบบไม่ต้องคิดอะไรมาก และมีโอกาสอัพเกรดเป็น Premium ในท้ายที่สุด หากแอปนั้นดีจริง

 

แต่สิ่งที่ต้องตระหนักคือความบาลานซ์ในการทำ Freemium ว่าเราจะใส่ฟีเจอร์ให้ผู้บริโภคได้ใช้มากน้อยเพียงไหน ถ้าใส่ฟีเจอร์ให้มากเกินไป ผู้บริโภคอาจรู้สึกว่าเพียงพอต่อการใช้งานแล้ว และไม่อัปเกรดเป็น Premium แต่ถ้าใส่ฟีเจอร์ให้น้อยเกินไป ผู้บริโภคก็จะรู้สึกว่าแอปของเรานั้นไม่น่าสนใจ ไม่เป็นประโยชน์กับเขา และตัดสินใจเลิกใช้งานไปในท้ายที่สุด เราจึงจำเป็นต้องวางแผนและหาจุดสมดุลที่ดีหากจะทำ Freemium

 

สินค้าและบริการที่ใช้โมเดล Freemium

 

ปัจจุบันมีหลากหลายธุรกิจที่ใช้โมเดล Freemium แล้วประสบความสำเร็จ เช่น 

 

1. บริการสตรีมมิ่งเพลง เช่น Spotify และ Joox ซึ่งให้ผู้บริโภคสามารถใช้บริการแบบ Freemium ได้เต็มที่ โดยมีกำหนดระยะเวลา 30 วัน หากเกิน 30 วันผู้บริโภคมีสิทธิ์เลือกได้ว่าจะใช้บริการต่อแบบฟรี หรือจ่ายเงินเป็น VIP หรือ Premium ซึ่งจะต่างกันตรงที่จำนวนเพลงที่ฟังได้ เพลย์ลิสต์ที่ฟังได้ หรือจำนวนครั้งในการเปลี่ยนเพลง

 

2. เกมส์ออนไลน์ เช่น Speed Drifters เกมส์แข่งรถของ Garena ผู้บริโภคสามารถเล่นเกมส์ได้ฟรี แต่ในแอปจะมี In-App Purchase หรือการเติมเงินเพื่อซื้อเสื้อผ้า รถในเกมส์ และไอเทมต่าง ๆ เพื่อใช้ในการอัพเลเวล

 

3. บริการ Cloud Storage ต่าง ๆ เช่น Apple iCloud ที่ให้ผู้บริโภคสามารถใช้พื้นที่เก็บข้อมูลบน Cloud ได้ฟรี แต่จะจำกัดเพียงแค่ 5 GB เท่านั้น หากต้องการพื้นที่เพิ่มจะต้องจ่ายเงินซื้อเป็นรายเดือน

 

นี่เป็นเพียงแค่ตัวอย่างเบื้องต้นเท่านั้น ยังมีสินค้าและบริการอื่น ๆ อีกมากมายที่ใช้ Freemium อย่าง Microsoft Office และ Dropbox ก็มีการใช้ Freemium มานานแล้ว กล่าวได้ว่าหลายธุรกิจสามารถเติบโตได้ด้วยการนำกลยุทธ์ Freemium มาใช้ สิ่งสำคัญที่สุดคือเจ้าของแอปต้องมีการวางแผนที่ดีและรักษาจุดสมดุลของการทำ Freemium ให้ได้ จึงจะเป็นประโยชน์กับบริษัทอย่างแท้จริง

 

 

Comments