O2O เทรนด์การตลาดใหม่ที่น่าจับตามอง

O2O เทรนด์การตลาดใหม่ที่น่าจับตามอง

การตลาด

GlobalLinker Staff

GlobalLinker Staff

241 week ago — ใช้เวลาอ่าน 4 นาที

 

O2O หรือเรียกเต็ม ๆ ว่า Online to Offline หรือจะเป็น Offline to Online ก็ได้เช่นกัน เพราะเป็นการเชื่อมต่อระหว่างช่องทาง Online และ Offline ให้ส่งเสริมกัน เป็นการ Shift ระหว่างสองช่องทาง เพื่อรองรับโมเดลธุรกิจรูปแบบใหม่ ๆ เป็นการตลาดรูปแบบใหม่ ซึ่งกำลังได้รับความนิยมในปัจจุบัน เพราะในการทำธุรกิจสมัยนี้จะโฟกัสทาง Online หรือ Offline อย่างเดียวไม่ได้ เพราะทั้งสองช่องทางก็มีข้อดีและข้อเสียที่แตกต่างกัน ถ้าอยากอุดรอยรั่วของธุรกิจจึงจำเป็นต้องเข้าใจทั้งสองช่องทาง

 

O2O เป็นโมเดลธุรกิจที่ได้มีการใช้งานมานานแล้วในต่างประเทศ เช่น ประเทศจีนที่เริ่มประยุกต์ใช้โมเดล O2O มาตั้งแต่ปี 2012 ในหลากหลายธุรกิจ เช่น ธุรกิจจัดส่งอาหาร ธุรกิจจัดส่งเชฟ ธุรกิจความสวยความงาม ธุรกิจที่อยู่อาศัย หรือแม้แต่ในการศึกษา ในปัจจุบันยักษ์ใหญ่ E-Commerce อย่าง Alibaba ก็ได้ใช้โมเดล O2O พลิกโฉมซูเปอร์มาร์เก็ตให้เชื่อมโยงกันระหว่าง Offline และ Online เกิดเป็น New Retail ขึ้นมา

 

New Retail ที่ว่านี้คือการเชื่อมโยงกันระหว่างคลังข้อมูลของผู้บริโภค สินค้าออนไลน์ สินค้าออฟไลน์ และการขนส่ง Alibaba ได้เปิดตัว Hema โดยมีแอปของซูเปอร์มาร์เก็ตให้ลูกค้าดาวน์โหลด เพื่อทำการดูข้อมูลสินค้า โดยการสแกนบาร์โค้ดที่ติดอยู่บนสินค้า สามารถจ่ายเงินซื้อสินค้าผ่านทางช่องทางออนไลน์ เมื่อซื้อสินค้าเรียบร้อย ระบบก็จะบันทึกข้อมูลการซื้อสินค้า และทำการแนะนำสินค้าที่ลูกค้าอาจจะสนใจต่อไป นอกจากนี้ยังมีระบบจัดส่งสินค้าถึงบ้านอีกด้วย หรือหากไม่สะดวกไปห้างก็สามารถสั่งซื้อสินค้าออนไลน์แล้วให้มาส่งถึงบ้านได้ โดยใช้เวลาจัดส่งไม่ถึง 30 นาที ในรัศมี 3 กิโล และจัดส่งฟรี

 

ในไทยนั้นเริ่มมีการประยุกต์ใช้ O2O ในโมเดลธุรกิจแล้ว หลายธุรกิจใช้ช่องทาง Online มาเป็นตัวเชื่อมต่อไปสู่กิจกรรม หรือบริการในรูปแบบ Offline หนึ่งในธุรกิจที่เห็นได้ชัดเจนถึง O2O คือธุรกิจบริการส่งอาหาร และบริการเรียกรถ ที่แข่งขันกันอย่างดุเดือดทั้ง Line Man, Grab และ Get ธุรกิจเหล่านี้ได้เห็นถึง Pain Point ของลูกค้ากลุ่มผู้บริโภคในเมืองที่ใช้ชีวิตอย่างเร่งรีบ และต้องการตัวช่วยในชีวิตประจำวัน ทั้งบริการส่งของและเอกสาร รับส่งคนไปยังจุดหมายปลายทางในช่วงเวลาเร่งด่วน และบริการส่งอาหาร

 

จึงได้พัฒนาแอปขึ้นมารองรับการให้บริการตามที่กล่าวมา เพื่อตอบโจทย์ผู้บริโภค โดยใช้โมเดล O2O ในธุรกิจเชื่อมต่อระหว่างผู้บริการและผู้บริโภคอย่างสมดุลย์ เช่น การสั่งอาหารจาก Grab Food ที่เริ่มจากผู้บริโภคเปิดแอปและกดสั่งอาหาร คำสั่งซื้ออาหารจะถูกส่งไปยังร้านอาหารโดยตรง เมื่อร้านอาหารกดยอมรับออเดอร์แล้ว ระบบก็จะทำการค้นหาคนขับของ Grab ซึ่งเป็นผู้ส่งอาหารที่อยู่ใกล้ ๆ บริเวณร้าน เพื่อให้มารับอาหาร และนำไปส่งที่ผู้บริโภคที่กดสั่งอาหารตามระยะเวลาที่กำหนด เมื่อผู้บริโภคได้รับอาหารแล้ว ก็สามารถกดให้คะแนนกับผู้ส่งอาหารและร้านอาหารได้ ถือว่าเป็น Online to Offline และกลับมายัง Online โดยสมบูรณ์

 

แม้แต่อุตสาหกรรมเพลงปัจจุบันก็ใช้ O2O เช่น แอปสตรีมมิ่งเพลงเจ้าใหญ่อย่าง JOOX และ Spotify ซึ่งเป็นแพลทฟอร์มที่ให้ผู้บริโภคสมัครสมาชิกเข้ามาฟังเพลง ได้เห็นว่าการให้บริการแบบ Online อย่างเดียวนั้นไม่พอ ในการสร้างแบรนด์และความสัมพันธ์กับผู้บริโภค ทั้งสองผู้บริการนี้จึงได้จัดคอนเสิร์ตขึ้น เพื่อสนับสนุนศิลปิน และเชื่อมต่อประสบการณ์การฟังเพลงของผู้บริโภคระหว่างโลก Online และ Offline เข้าด้วยกัน โดยเลือกศิลปินที่อยู่ในเพลลิสต์ยอดนิยมมาแสดงคอนเสิร์ตให้ผู้ชมได้ชมอย่างจุใจ

 

จะเห็นว่า O2O นั้นสามารถนำมาประยุกต์ใช้ได้หลากหลายธุรกิจ ในการใช้ทั้ง Online และ Offline ให้ส่งเสริมกัน เพื่อเสริมจุดแข็งให้ธุรกิจและแก้ไข Pain Point ของผู้บริโภค O2O จึงเป็นโมเดลธุรกิจใหม่ที่ไม่ใช่เรื่องไกลตัวอีกต่อไป

 

 

Comments