The Rise of AI in China เมื่อ AI Ecosystem ของจีนเบ่งบานในระดับโลก

The Rise of AI in China เมื่อ AI Ecosystem ของจีนเบ่งบานในระดับโลก

ดิจิตอลและเทคโนโลยี

Digital Ventures Technology

Digital Ventures Technology

301 week ago — ใช้เวลาอ่าน 5 นาที

หากกล่าวถึงประเทศชั้นนำด้านเทคโนโลยีชั้นสูงนาทีนี้ นอกจากสหรัฐอเมริกาและอังกฤษแล้ว คงจะขาดยักษ์ใหญ่ฝั่งเอเชียอย่างจีนไปไม่ได้ ซึ่งหากเจาะที่ตัวเทคโนโลยีลงไปเป็นรายประเภทอย่าง เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์หรือ AI ที่กำลังได้รับความสนใจจากทุกอุตสาหกรรมตอนนี้ ประเทศจีนนับได้ว่าเป็นประเทศที่มีบทบาทด้านการพัฒนา AI สูงสุดเป็นอันดับหนึ่งของโลกก็ว่าได้

 

 

ปัจจัยอะไรบ้างที่ขับเคลื่อน Ecosystem จีนให้ส่งเสริมเทคโนโลยีตัวนี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ? เราจึงขอพาทุกท่านไปทำความรู้จักกับภาพรวมของ Ecosystem ด้าน AI ในประเทศจีนกัน

 

แผนการพัฒนา AI ที่ริเริ่มโดย “ภาครัฐ”

ในการพัฒนานวัตกรรม ภาครัฐมีส่วนสำคัญในการสนับสนุนให้เอกชนพัฒนานวัตกรรมเกิดขึ้นและมีผลทางเศรษฐกิจได้จริง ซึ่งรัฐบาลจีนมีแผนการสนับสนุนเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์อย่างจริงจัง โดยเมื่อเดือนกรกฎาคม ปี 2017 รัฐบาลจีนได้ร่าง “แผนงานการพัฒนาปัญญาประดิษฐ์สำหรับยุคสมัยใหม่” ซึ่งเป็นแผนงานส่งเสริมการค้นคว้าเทคโนโลยี AI ครบทุกด้าน โดยอิงกับปัจจัยที่เปลี่ยนไปในปัจจุบัน แผนนี้มีเป้าหมายหลักคือการปั้นตลาดอุตสาหกรรม AI ให้มีมูลค่า 1 ล้านล้านหยวน (ประมาณ 5 ล้านล้านบาท) ภายในปี 2030

 

แผนการพัฒนาเทคโนโลยี AI ยังเป็นหนึ่งในโครงการใหญ่ของจีนที่มีชื่อว่า “โครงการนวัตกรรมด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งปี 2030” ซึ่งโครงการนี้เน้นการพัฒนานวัตกรรมจาก Disruptive Tech ทั้งหมด ทั้งยังเน้นการพัฒนาในระยะยาวเพื่อผลลัพธ์ที่ดีต่อเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ

 

ภาครัฐยังประกาศแผนการร่วมมือกับยักษ์ใหญ่ด้านเทคโนโลยีของจีนทั้ง 3 ราย โดยให้แต่ละรายพัฒนา AI สำหรับการใช้งานแต่ละด้าน ได้แก่ Baidu พัฒนา AI สำหรับยานยนต์ไร้คนขับ, Alibaba สำหรับ Smart City และ Tencent พัฒนา AI เพื่อระบบดูแลสุขภาพอัจฉริยะ (Intelligent Healthcare).

 

 

บริษัทชั้นนำด้านเทคโนโลยีจีนตื่นตัวเรื่อง AI อย่างชัดเจน

นอกจากการจับมือกับภาครัฐแล้ว ยักษ์ใหญ่ด้านเทคโนโลยีของจีนเองก็ตื่นตัวในการพัฒนาเทคโนโลยี AI อย่างมาก โดยต่างมีทีมพัฒนาเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์เป็นของตัวเอง อีกทั้งยังริเริ่มก่อนที่เทคโนโลยีนี้จะ Commercialise อย่างจริงจังในช่วงปีที่ผ่านมา อย่างเช่น Baidu ที่เริ่มต้นพัฒนาเทคโนโลยี Natural Language Process และ Machine Learning ตั้งแต่ปี 2010 ก่อนหน้า Google ที่หันมาพัฒนา Machine Learning อย่างจริงจังในปี 2015

 

นอกจากนี้ บริษัทยักษ์ใหญ่ดังกล่าวได้แก่ Baidu, Tencent และ Alibaba ยังถือเป็นผู้นำด้านการลงทุนใน Startup ด้านเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ด้วย ซึ่งทำให้ประเทศจีนมีสัดส่วนการลงทุนในเทคโนโลยีนี้สูงที่สุดในโลก รวมถึงมีการเข้าไปลงทุนกับ Startup ด้านปัญญาประดิษฐ์ใน Tech Startup Ecosystem ชั้นนำทั่วโลก เช่นที่ Silicon Valley และ Tel Aviv และยังลงทุนใน Startup ที่เกี่ยวข้องกับการสนับสนุนผลิตภัณฑ์ของ AI อย่างด้านเทคโนโลยี Robotics ซึ่งสามารถต่อยอดในด้านการผลิตในเวลาอันใกล้

 
Startup อีกหนึ่งผู้เล่นที่เติมเต็ม Ecosystem

นอกจากภาครัฐกับบริษัทเอกชนแล้ว Startup ก็เป็นอีกหนึ่งผู้เล่นสำคัญใน AI Ecosystem ของจีน ซึ่งมีทั้ง Startup ที่เกิดขึ้นในประเทศและ Startup นอกประเทศที่มาจากการลงทุนโดยบริษัทจีน โดยมีสัดส่วนการลงทุนสูงที่สุดในโลกอย่างที่กล่าวไปข้างต้น

 

logo01-1           vvvvv

 

สำหรับ Startup ที่ได้รับการลงทุนสูงที่สุดจากรายงานของ CBinsight เป็น Startup ที่พัฒนาเทคโนโลยีด้าน Computer Vision หรือการประมวลผลภาพออกมาเป็นข้อมูลโดยใช้ AI ซึ่งสามารถประยุกต์ใช้กับนวัตกรรมหลายส่วน ทั้งยานยนต์ไร้คนขับ, Smart City ในการดูแลความปลอดภัย และด้านสาธารณสุขสำหรับการตรวจวิเคราะห์โรคเบื้องต้น Startup กลุ่มนี้มีทั้งจากในประเทศจีน เช่น SenseTime และจากต่างประเทศ เช่น Nexar จากอิสราเอล ซึ่งกลุ่มบริษัทจีนได้เข้าไปลงทุนด้วย

 

หา Partner ที่มีประสิทธิภาพในต่างประเทศเพื่อพาให้จีนกลายเป็นหนึ่งในผู้เล่นสำคัญของ AI ระดับโลก

ลำพังแผนและการส่งเสริมการลงทุนไม่อาจเป็นทำให้ Ecosystem ด้าน AI ของประเทศจีนเติบโตได้ จีนจำเป็นต้องมีประสานความร่วมมือกับทั้งบริษัทใหญ่และ Startup ในต่างประเทศ ซึ่งสำคัญทั้งแง่เศรษฐกิจและการพัฒนานวัตกรรม

 

สำหรับตลาดต่างประเทศ จีนใช้ประโยชน์จากการเป็นฐานการผลิตสินค้าสำคัญของโลกด้วยการรับบทบาทเป็นผู้ผลิต Hardware ให้กับผู้พัฒนาสินค้าด้าน AI ระดับโลก เช่น Smart Speaker ที่ออกแบบโดยบริษัทจากสหรัฐฯ เพื่อการส่งออกโดยเฉพาะ ส่วนตลาดในประเทศ จีนก็จับมือกับ Startup เพื่อพัฒนา AI ตอบโจทย์การใช้งานในประเทศเป็นหลัก เช่นการพัฒนา NLP รองรับภาษาจีน เพื่อให้ AI ตอบโต้กับผู้ใช้เป็นภาษาจีนได้

 

การร่วมเป็น Partner กับบริษัทใหญ่ในต่างประเทศและการลงทุนใน Startup เป็นกลยุทธสำคัญที่ช่วยให้จีนขับเคลื่อน Ecosystem ได้อย่างสมบูรณ์ จีนยังคงสามารถผลิตสินค้าเกี่ยวกับเทคโนโลยีนี้ส่งออกได้ รวมทั้งเพิ่มฐานความรู้ด้าน AI ผ่านการลงทุนกับ Startup ด้าน AI ในต่างประเทศ โดยเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับภาคการผลิตและอุตสาหกรรม ซึ่งไม่เพียงแต่ได้เทคโนโลยีกลับมาแล้ว ยังเพิ่มโอกาสเข้าถึงตลาดประเทศนั้นๆ ได้ง่ายขึ้น

 

และนี่ก็คือภาพรวมด้านเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ของประเทศจีนที่กำลังเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็วและมั่นคงจากการผลักดันอย่างพร้อมเพรียงกันโดยทุกส่วนของ Ecosystem ซึ่งจากแผนงานด้านการพัฒนานวัตกรรมของจีน ยังมีอีกหลายเทคโนโลยีที่จีนต้องการผลักดันและน่าสนใจไม่น้อย ซึ่ง Digital Ventures จะขอนำเสนอเรื่องราวเหล่านี้ในโอกาสต่อไป

 

ที่มาของข้อมูล

https://www.cbinsights.comhttps://startupgenome.com/http://www.gov.cn

รูปภาพโดย

knowledge.ckgsb.edu.cn

Comments