Future of Meat เมื่อเนื้อสัตว์สังเคราะห์จากห้องทดลองจะเป็นอีกหนึ่ง FoodTech ที่เป็นความหวังของประชากรโลก

Future of Meat เมื่อเนื้อสัตว์สังเคราะห์จากห้องทดลองจะเป็นอีกหนึ่ง FoodTech ที่เป็นความหวังของประชากรโลก

สุขภาพและไลฟ์สไตล์

Digital Ventures Technology

Digital Ventures Technology

302 week ago — ใช้เวลาอ่าน 6 นาที

Digital Transformation เข้ามาเปลี่ยนแปลง Solution ของทุกธุรกิจ ไม่เว้นแม้แต่อาหารที่ปัจจุบันมีผู้ให้บริการ Solution ใหม่ๆ ซึ่งเมื่อผสานกับ Food Tech ก็ทำให้เกิดอาหารที่มีความปลอดภัย หลากหลาย เข้าถึงง่าย และมีราคาถูกลง ตัวอย่างเช่น การย้ายแหล่งเพาะปลูกเข้าสู่เมืองเพื่อกระจายอาหารสดใหม่โดยการคิดค้นวิธีปลูกพืชที่ไม่ต้องใช้ดินหรือแสงแดด เพื่อให้สามารถปลูกผักและผลไม้ภายในเมืองใหญ่และนำผลผลิตที่สดใหม่มาจำหน่ายแก่ชาวเมืองได้ทันทีด้วย E-commerce

หรือแม้กระทั่งตัวเทคโนโลยี Blockchain ที่มีอิทธิพลมากที่สุดในปีที่ผ่านมา ก็ยังมีการนำมาใช้ในวงการ FoodTech เพื่อสร้างความมั่นใจและเสริมความปลอดภัยด้านการจัดการอาหาร โดย Blockchain จะทำให้เราสามารถเริ่มบันทึกข้อมูลของอาหารได้ครบทั้งกระบวนการตั้งแต่ต้นทางการผลิตจนถึงชั้นวางสินค้าใส่ลงในระบบ รวมถึงรายละเอียดต่างๆ อย่างเวลาการให้น้ำพืชผัก ชนิดอาหารของสัตว์ ปุ๋ยหรือยาฆ่าแมลงไปจนถึงที่ตั้งของสวน วิธีการเก็บเกี่ยว การจัดการภายในโรงงาน จนถึงขั้นทราบว่าส่งไปขายที่ไหนบ้าง ซึ่งหากมีปัญหาก็สามารถรู้ต้นเหตุ และแก้ไขป้องกันได้อย่างถูกต้องไปจนถึงปลายทางก่อนถึงมือผู้บริโภค

อีกนวัตกรรมใหม่ที่ได้รับความสนใจเป็นอย่างมากในวงการ FoodTech ก็คือ Future of Meat หรือทิศทางการผลิตเนื้อสัตว์เพื่ออนาคต อาจฟังดูเป็นเรื่องไกลตัวหรือดูเหมือนเรื่องราวในหนัง Sci-fi แต่ในอีกมุมหนึ่งของโลก เนื้อสัตว์แห่งอนาคตไม่ได้เป็นเพียงจินตนาการอีกต่อไป เพราะมีบริษัทที่พยายามศึกษา วิจัย และทดลองปลูกถ่ายเซลล์เพื่อผลิตเนื้อสัตว์ที่มีคุณค่าทางอาหารสำหรับรับประทาน โดยไม่จำเป็นต้องเลี้ยงสัตว์เหล่านั้นเพื่อฆ่าเป็นอาหารอีกแล้ว

ทำไมคนเราจึงมุ่งมั่นนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยผลิตเนื้อสัตว์สังเคราะห์จาก Lab?

แน่นอนว่าไม่ใช่เพื่อคนรักเนื้อจะได้ทานเนื้ออย่างจุใจ  แต่เป็นความพยายามแก้ไขปัญหาอาหารขาดแคลนที่เกิดขึ้นทั่วโลก โดยเฉพาะอาหารในหมู่โปรตีน ซึ่งเป็นสารอาหารที่สำคัญต่อร่างกายและการเจริญเติบโต แต่มีราคาแพงและต้นทุนสูง เราจึงได้เห็น Startup จากประเทศเนเธอร์แลนด์ที่ชื่อว่า Mosa Meat คิดค้นการสร้างโปรตีนสังเคราะห์ราคาถูกในรูปแบบของเนื้อเบอเกอร์จาก Stem Cell ที่มีต้นทุนเพียง 11 เหรียญสหรัฐฯ ซึ่งถูกกว่าเนื้อเบอเกอร์สังเคราะห์ในตลาดที่มีต้นทุนหลักแสนเหรียญสหรัฐฯ และเป็นหนึ่งในความหวังที่จะกระจายอาหารประเภทโปรตีนไปยังประชากรโลกให้ได้มากที่สุด

 

                       mosameat.com

เนื้อสังเคราะห์ที่บริษัทต่างๆ กำลังวิจัยและทดลองอยู่ เรียกกันว่า Clean meat หมายถึง เนื้อที่เกิดจากการเพาะเซลล์แทนที่จะเป็นเนื้อที่ได้มาจากสัตว์ต่างๆ โดยแนวคิดที่ว่าเนื้อสัตว์สังเคราะห์นั้นดีต่อสิ่งแวดล้อมมากกว่า เพราะพยายามผลิตโดยการใช้พลังงาน อาหาร น้ำ และทรัพยากรอื่นๆ น้อยกว่าการเลี้ยงสัตว์เพื่อเป็นอาหารแบบทั่วไป

ดังนั้น ในขณะที่หลายๆ คนยังรู้สึกว่าเนื้อสัตว์สังเคราะห์นั้นดูน่ากลัวและผลิตขึ้นมาแบบไม่ธรรมชาติ แต่ในทางเทคนิคแล้ว หากสามารถผลิตเนื้อสัตว์สังเคราะห์ได้ตามคอนเซปต์ที่ตั้งไว้จริงๆ นวัตกรรมดังกล่าวนอกเหนือจากการช่วยเหลือประชากรโลกที่มีจำนวนเพิ่มขึ้นทุกวันแล้ว ยังเป็นอีกหนึ่งวิธีการได้มาซึ่งอาหารที่มีจริยธรรมมากขึ้น และยั่งยืนขึ้นในเชิงสิ่งแวดล้อมอีกด้วย

การเลียนแบบเนื้อสัตว์ให้เหมือนจริงที่สุด ไม่ใช่เรื่องง่าย และมีข้อจำกัดมากมายตามมา

ตัวอย่างของวิธีการผลิต Clean meat เห็นได้จาก Startup รายหนึ่งใน San Francisco ที่ได้รับความสนใจในฐานะผู้เพาะเนื้อสัตว์จากห้องทดลอง ซึ่งมีชื่อว่า Just บริษัทนี้มีความตั้งใจที่จะผลักดันให้เนื้อสังเคราะห์เหล่านี้ไปอยู่ในกระแสหลักของผู้บริโภคให้ได้ วิธีการผลิตก็คือการนำเนื้อเยื่อจากสัตว์มาเข้า Lab แล้วเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อเหล่านั้นให้โตขึ้นในสภาพแวดล้อมที่ทำให้เซลล์เชื่อว่ายังอาศัยอยู่ในร่างกายของสัตว์ จนกระทั่งเซลล์นั้นเติบโตและใกล้เคียงกับเนื้อสัตว์มากที่สุด

 

                       Justforall.com


แต่กว่าจะนำนวัตกรรมนี้เข้าสู่ตลาดจริงได้ ก็ถือว่ายังมีข้อจำกัดอยู่มาก เพราะแม้จะมีประโยชน์หลายด้าน แต่การจะให้ผู้คนวงกว้างยอมรับในฐานะอาหารได้นั้น ปัจจัยสำคัญก็คือ รสชาติ เนื้อสัมผัส และความรู้สึกที่สามารถทดแทนเนื้อแบบดั้งเดิมได้ ซึ่งการจะสร้างเนื้อสังเคราะห์ในปริมาณที่เพียงพอต่อการบริโภคของตลาด หรือเพาะเนื้อเยื่อที่มีโครงสร้างที่ซับซ้อนจนทดแทนเนื้อสัตว์หลายๆ ประเภทอย่างเนื้อเสต็กนั้น ไม่ใช่เรื่องง่ายเลย และแม้จะได้รับการยอมรับจากชาว Vegan (งดทานเนื้อสัตว์) หรือกลุ่มรณรงค์ต่อต้านการทารุณกรรมสัตว์ก็ตาม แต่ขั้นตอนการผลิต Clean meat ในปัจจุบันยังจำเป็นต้องใช้เนื้อเยื่อหรือสารบางอย่างจากสัตว์อยู่ดี

ด้วยข้อจำกัดด้านการผลิตหลายๆ บริษัทจึงพยายามเริ่มทำ Clean meat ในรูปแบบของเนื้อที่เลียนแบบได้ง่ายที่สุด เช่น เนื้อสับเบอร์เกอร์ หรือมีไอเดียในอนาคตว่าจะผลิต ฟัวกราส์ ซึ่งหากทำได้จริง นอกจากจะช่วยให้เมนูตับห่านราคาถูกลงแล้ว ยังช่วยลดการทารุณกรรมห่านจากวิธีแบบดั้งเดิมอีกด้วย

Startup ด้าน FoodTech ที่พัฒนาอาหารทะเลสังเคราะห์

ไม่ได้มีแค่เนื้อวัว เนื้อไก่เท่านั้น แต่ยังมีเนื้อปลาสังเคราะห์ที่คิดค้นขึ้นด้วยคอนเซปต์เดียวกัน คือคงไว้ซึ่งรสชาติ สารอาหาร ราคาถูกลง แต่ต่างกับปลาจริงๆ ตรงที่ดีต่อสิ่งแวดล้อม และจะช่วยสร้างความยั่งยืนให้กับท้องทะเลโดยลดการทำประมงและการจับปลาทะเลมาทำเป็นอาหาร แถมยังไม่มีสารปนเปื้อนที่มักจะมากับอาหารทะเลอีกด้วย บริษัทที่ชื่อ Finless Foods นี้ก่อตั้งโดยนักเคมีชีวภาพใน California ที่ใช้ Biotechnology หรือเทคโนโลยีชีวภาพเข้ามาผนวกกับ Food Tech จนเมื่อไม่กี่เดือนที่ผ่านมา Startup รายนี้ก็ได้รับเงินระดมทุนรอบล่าสุดไปที่ 3.5 ล้านเหรียญฯ โดยหวังว่าจะทำ R&D เบื้องต้นให้สำเร็จลุล่วง เพื่อให้พร้อมเข้าสู่กระบวนการการผลิตจริง และผลักดันให้เนื้อปลาสังเคราะห์นี้เข้าสู่ตลาดโดยไว

 

                       Finlessfoods.com


ในวงการ Food Tech นั้นยังมีพื้นที่อีกมากสำหรับนวัตกรรมที่จะเข้ามาช่วยพัฒนาความเป็นอยู่ของประชากรโลกได้ อยู่ที่ว่าเราตั้งต้นจากปัญหาที่ส่งผลกับคนวงกว้างได้จริงหรือไม่ และมุ่งมั่นแค่ไหนกับการพัฒนาและผลักดันให้นวัตกรรมออกสู่ตลาดได้จริง 
Digital Ventures จะนำเรื่องราวที่น่าสนใจของเทคโนโลยีต่างๆ มาให้อ่านกันอีกเรื่อยๆ อย่าลืมติดตามนะครับ

ที่มาของข้อมูล

Wired.com, Veggieathletic.com, Finlessfoods.com

Comments