เมื่อ Retail ผสาน AI จนเกิดเป็น ‘นวัตกรรมแห่งวงการค้าปลีก’ ที่ตลาดออฟไลน์ต้องรู้

เมื่อ Retail ผสาน AI จนเกิดเป็น ‘นวัตกรรมแห่งวงการค้าปลีก’ ที่ตลาดออฟไลน์ต้องรู้

ดิจิตอลและเทคโนโลยี

Digital Ventures Technology

Digital Ventures Technology

309 week ago — ใช้เวลาอ่าน 7 นาที

จากที่ Digital Ventures เคยนำเสนอเรื่องราวเกี่ยวกับเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์หรือ AI ในหลากหลายแง่มุมไปแล้ว แต่เชื่อว่ามุมหนึ่งที่ผู้อ่านที่ติดตามเราสนใจที่สุดคงหนีไม่พ้นประเด็นของ AI ในวงการธุรกิจที่หลายคนมองว่าเป็นตัวที่จะก่อผลกระทบกับชีวิตคนมากที่สุด ในวันนี้เราจึงเลือกเอาเรื่องราวของ AI ที่ในตอนนี้กำลังเข้าสู่อุตสาหกรรมค้าปลีกหรือ Retail Industry ซึ่งมีผลต่อชีวิตและเศรษฐกิจของเราชัดเจนที่สุดมาฝากทุกท่านกัน

 

ทัศนคติของผู้บริหาร” คือปัจจัยสำคัญที่ผลักดันให้ AI เข้ามาพลิกธุรกิจค้าปลีก

สิ่งที่ทำให้ AI ถูกผลักดันมาใช้ในตลาดมากขึ้นเป็นผลมาจากการตัดสินใจของบรรดาผู้บริหารธุรกิจทั้งหลายที่มีมุมมองที่ดีต่อการใช้ปัญญาประดิษฐ์ในธุรกิจ จากการสำรวจของ Infosys ที่สำรวจผลกระทบของ AI ในตลาดแรงงานผ่านมุมมองของผู้นำองค์กรระดับ C-Level ระบุว่า มีผู้บริหารกว่า 90% กำลังมองหาวิธีการนำ AI มาใช้ในธุรกิจของตนให้เกิดประโยชน์สูงสุด โดย 73% ของผู้บริหารที่ถูกสัมภาษณ์ทั้งหมด ให้เหตุผลว่าเขามีความเชื่อว่า AI จะเข้ามาเปลี่ยนการดำเนินธุรกิจให้ดีขึ้นกว่าเดิมได้

 

ด้วยเหตุนี้ เราจึงได้เห็น Solution ใหม่ๆ ที่เกิดขึ้นโดยมีเทคโนโลยี AI ช่วยขับเคลื่อนมากขึ้นอย่างชัดเจน ซึ่งสำหรับในอุตสาหกรรมค้าปลีกที่เราจะพูดถึงในครั้งนี้ มีการนำ AI มาใช้ในส่วนต่างๆ ทั้งการขาย การตลาด ไปจนถึงการผลิตแบบครบวงจร ลองมาดูการใช้งานในปัจจุบันกันว่า AI ในวงการนี้ไปถึงไหนกันแล้ว

 

 

Chatbot และ Voice Assistant เครื่องมือที่พร้อมช่วยขายของได้ตลอด 24 ชั่วโมง

ในยุคที่ร้านค้าปลีกต่างๆ หันมาปรับธุรกิจเข้าสู่การขายออนไลน์กันอย่างแพร่หลาย ทำให้ผู้บริโภคสามารถเข้าถึงร้านค้าได้อย่างง่ายๆ ผ่านระบบอินเทอร์เน็ต ซึ่งตัวช่วยที่สำคัญของการขายออนไลน์นั่นก็คือการใช้ “Chatbot” ที่ช่วยให้ร้านค้าต่างๆ สามารถดำเนินการขายอย่างต่อเนื่อง แม้ในช่วงนอกเวลาทำการของพนักงาน

 

โดยปัจจุบัน Chatbot ได้รับการพัฒนาให้สามารถสื่อสารกับมนุษย์ได้อย่างเป็นธรรมชาติ และมีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยใช้สมองกลอย่าง “AI” เข้ามาช่วยในการทำงาน ซึ่งช่วยสร้างขีดความสามารถใหม่ๆ ให้ Chatbot สามารถทำได้มากกว่าแค่การตอบข้อความ เช่น เรื่องของการเก็บข้อมูลต่างๆ อย่างการบันทึกชื่อและข้อมูลของผู้สอบถาม บันทึกคำสั่งซื้อ และยืนยันการรับชำระเงินได้ ซึ่งปัจจุบันมีผู้พัฒนาบริการ chatbot โดยใช้ AI เข้ามาช่วยอยู่หลายราย ทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศ

 

ไม่เพียงแค่ Chatbot เท่านั้น แต่ AI ยังอยู่เบื้องหลังอีกหนึ่งตัวช่วยสำหรับธุรกิจค้าปลีกอย่างระบบ Voice Assistant อีกด้วย โดยเป็นการดึงความสามารถด้านการประมวลภาษาธรรมชาติของ AI หรือ Natural Language Process เข้ามาช่วยให้ระบบ Voice Assistant ต่างๆ เข้าใจภาษาธรรมชาติของมนุษย์มากขึ้น ทำให้ระบบสามารถตีความคำสั่งที่เป็นภาษาที่ในชีวิตประจำวันของมนุษย์ได้แม่นยำมากขึ้น

 

โดยปัจจุบันมีร้านค้าหลายแห่งเริ่มนำระบบนี้มาใช้เพื่อมอบประสบการณ์ใหม่ๆ แก่ลูกค้ากันมากขึ้นเรื่อยๆ

 

 

เปิดประสบการณ์ใหม่ๆ ให้กับลูกค้าผ่านการรวมตัวของ AI และ Augmented Reality (AR)

มีสินค้าหลายชนิดที่ต้องอาศัยการตัดสินใจซื้อในหลายขั้นตอน ซึ่งอาศัยเพียงแค่การสอบถามอย่างเดียวไม่พอ อาจจำเป็นต้องมีการทดลองเพื่อให้เห็นภาพชัดขึ้น เช่น เสื้อผ้าหรือเครื่องประดับ ซึ่งสวนนี้เองที่ AI สามารถทำงานร่วมกับเทคโนโลยี Augmented Reality เพื่อสร้างภาพจำลองการใช้งานสินค้านั้นๆ ขึ้นมาได้ เช่น แสดงผลเสื้อผ้าบนตัวเราโดยคำนวณจากรูปร่าง เป็นต้น นับเป็นการผสานเทคโนโลยีที่มีกำลังได้รับความสนใจอย่างมาก เพราะจากการสำรวจของ McKinsay Company และ Business of Fashion ในปีนี้พบว่ามี Fashion Retailer มากถึง 75% ที่กำลังลงทุนใน AI เพื่อนำเทคโนโลยีนี้มาพัฒนาบริการของตนเอง

 

AI กับหน้าที่ Social Sale Assistant การวิเคราะห์ตลาดที่ได้ข้อมูลเชิงลึกมากกว่าเดิม

Social Media นับเป็นเครื่องมือที่ทรงอิทธิพลต่อการทำการตลาดในยุคปัจจุบันเป็นอย่างมาก เนื่องจากเป็นแหล่งข่าวสาร และรวบรวมข้อมูลของผู้ใช้งานที่เป็นประโยชน์ต่อการทำการตลาดไว้ ซึ่งในส่วนนี้ AI ก็ได้เข้าไปทำหน้าที่เป็น Social Sale Assistant ที่คอยวิเคราะห์ข้อมูลเชิงลึกของผู้ใช้งาน เช่น การกำหนดแผนการโฆษณาสินค้าที่เหมาะกับกลุ่มผู้ใช้ โดยวิเคราะห์จากข้อมูลที่ผู้ใช้เคยกรอกไว้ในระบบ Social Media นั้นๆ การนำ AI เข้ามาช่วยวิเคราะห์ข้อมูลเหล่านี้จะช่วยให้นักการตลาดคาดเดาพฤติกรรมของผู้บริโภคได้อย่างแม่นยำมากขึ้นอีกด้วย

 

Right Pricing Strategy กำหนดราคาขายอย่างแม่นยำด้วย Big Data

AI ไม่เพียงแต่สามารถใช้จับคู่สินค้ากับผู้ซื้อผ่านการโฆษณาเท่านั้น แต่ยังสามารถช่วยวางแผนการกำหนดราคาสินค้าผ่านข้อมูลที่มีอยู่อย่างซับซ้อนได้ด้วย โดย AI สามารถใช้ศาสตร์ Big Data ทำความเข้าใจถึงความนิยมของสินค้า ปริมาณที่มีอยู่ กำลังการผลิต ไปจนถึงต้นทุนสินค้า ต้นทุนการขนส่งและผลกำไร เพื่อกำหนดตัวเลขราคาสินค้าให้สอดคล้องกับกลยุทธ์การขายของผู้ผลิตได้ เช่น การตั้งราคาสูงเมื่อสินค้ามีความต้องการมากขึ้น หรือการลดราคาเพื่อระบายสินค้าออกไป ช่วยให้ร้านค้าหรือผู้ผลิตสามารถตั้งราคาสินค้าได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น อีกทั้งยังช่วยแบ่งเบางานของนักการตลาดได้ด้วย

 

 

พัฒนา AI ร่วมกับหุ่นยนต์เพิ่มประสิทธิภาพภาคการผลิตชัดเจน

ไม่เพียงแต่ด้านการขายและการตลาดเท่านั้น แต่ AI สามารถส่งเสริมภาคการผลิต ซึ่งมีผลต่อทั้ง Ecosystem อย่างชัดเจนด้วย เช่น หุ่นยนต์ผลิตรถยนต์จาก Fanuc ติดตั้ง Software ที่มีชื่อว่า Gakushu Learning Software ซึ่งเป็น AI รูปแบบหนึ่งที่เพิ่มเติมความสามารถในการเรียนรู้และวิเคราะห์ชิ้นงานโดยตรง ส่งผลให้ทำการผลิตได้รวดเร็วขึ้นกว่าเดิม 15% ซึ่งนับว่าเป็นตัวเลขที่มีนัยยะสำคัญต่อภาคค้าปลีกอย่างมาก เพราะทำให้ผลิตรถยนต์ได้มากขึ้นและใช้เวลาการผลิตต่อคันน้อยลง

 

ยานยนต์ไร้คนขับ อนาคตของ Logistics และ E-Commerce ที่ขับเคลื่อนด้วย AI

Logistics หรือภาคขนส่งเป็นส่วนที่เชื่อมระหว่างผู้ผลิตกับผู้ซื้อในยุค e-Commerce เรามักวาดภาพอนาคตว่าสามารถใช้ยานยนต์ไร้คนขับส่งของในที่ต่างๆ ได้ ไม่ว่าจะเป็นรถยนต์บนท้องถนนหรือเป็นหุ่นยนต์ขนาดเล็กตามบ้านเรือนต่างๆ ซึ่งการใช้ยานยนต์ไร้คนขับจำเป็นต้องมีปัญญาประดิษฐ์ควบคุมการทำงาน ซึ่งแม้ว่าจะอยู่ในขั้นทดลอง แต่แนวคิดการใช้ยานยนต์ไร้คนขับทำหน้าที่ขนส่งสินค้าในอุตสาหกรรมค้าปลีกก็มีความเป็นไปได้มากทีเดียว

 

สำหรับการทำงานของ AI ในยานยนต์ไร้คนขับ เราเคยยกตัวอย่างไว้ที่ Blog AI, Machine Learning และ Data Science เรียนรู้ได้เหมือนกัน แล้วต่างกันอย่างไร

 

เห็นได้ว่า AI เป็น Deep Tech ที่เข้ามาเปลี่ยนแปลงรูปแบบของ Retail Industry อย่างครบวงจร ทั้งนี้ ผลกระทบของ AI และเทคโนโลยี Deep Tech อื่นๆ คงไม่หยุดอยู่เพียงในแวดวงนี้แน่นอน ซึ่ง Digital Ventures จะคอยนำเรื่องราวที่น่าสนใจเกี่ยวกับ AI หรือ Deep Technology ประเภทอื่นๆ มาให้ทุกคนได้อ่านกันอีกแน่นอน

 

ที่มาของข้อมูล

https://www.infosys.com/

http://dataconomy.com/

https://www.techemergence.com/

Comments